การแก้ไขกฎหมายหลังเหตุการณ์สำคัญในเกาหลี
กฎหมายเกาหลีแก้ไขได้จริงเหรอ? มาดูการแก้ไขกฎหมายหลังเหตุการณ์สำคัญในเกาหลีกัน!
สวัสดีค่ะทุกคน! พวกเรา Creatrip ศูนย์รวบรวมข้อมูลการท่องเที่ยวเกาหลีที่อัพเดทโดยคนเกาหลีในทุก ๆ วัน
#กฎหมาย #กฎหมายเกาหลี
#การแก้ไขกฎหมาย #ข่าวเกาหลี
วันนี้เราจะมาพาทุกคนไปดูการแก้ไขกฎหมายหลังจากเกิดเหตุการณ์สำคัญ ๆ ในเกาหลีกันค่ะ มีเหตุการณ์น่าเศร้าและสะเทือนใจมากมายที่เกิดขึ้นจนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชน ทำให้เกิดการแก้ไขหรือร่างกฎหมายขึ้นมาใหม่โดยเฉพาะค่ะ
🤞🏻Subscribe พวกเรา Creatrip บน Youtube
✨Creatrip Instagram
instagram.com/creatrip.thailand
การแก้ไขกฎหมายหลังเหตุการณ์สำคัญในเกาหลี
1. กฎหมายคูฮารา (รายละเอียดเพิ่มเติม คลิก)
หลังจากการเสียชีวิตไปของนักแสดงสาวชื่อดัง "คูฮารา" แม่ของเธอที่ทอดทิ้งเธอไปนานก็ปรากฏตัวขึ้นและเรียกร้องขอรับมรดกจำนวนมากเพราะเป็นคนในครอบครัวค่ะ เหตุการณ์นี้สร้างความไม่พอใจให้กับคนทั้งเกาหลีและเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่อกฎหมายเกาหลีอย่างร้อนแรงเลยทีเดียวค่ะ
เหตุใดกฎหมายเกาหลีจึงอนุญาตให้มารดาที่ไม่ปฏิบัติตามความรับผิดชอบในการเลี้ยงดูบุตรได้รับมรดกของบุตรหลานมานานกว่า 20 ปีกัน?
และหลังจากที่เป็นประเด็นกันอยู่นาน ในที่สุดเกาหลีใต้ก็ได้มีมติผ่านร่างแก้ไขกฎหมายนี้เป็นที่เรียบร้อยค่ะ โดยกฎหมายระบุว่าหากสมาชิกในครอบครัวของผู้เสียชีวิตที่ไม่ได้ปฏิบัติตามความรับผิดชอบในการเลี้ยงดูบุตร ก็จะไม่ได้รับส่วนแบ่งในมรดกของผู้เสียชีวิต หรือได้รับเพียงบางส่วนเท่านั้นค่ะ
2. กฎหมายยุนชางโฮ (รายละเอียดเพิ่มเติม คลิก)
ในปี 2018 "ยุนชางโฮ" ถูกคนขับรถชนด้วยความเร็วสูงและเสียชีวิตทันที และผลปรากฏว่าคนขับรถคนนั้น "เมาแล้วขับ" ค่ะ จากนั้นเพื่อนของยุนชางโฮก็ได้อัปโหลดคำร้องไปยังบลูเฮาส์เกาหลี โดยเรียกร้องให้แก้ไขบทลงโทษและค่าปรับสำหรับการเมาแล้วขับ และภายในเวลาไม่กี่วันก็มีผู้ลงนามเห็นด้วยมากกว่า 400,000 คนเลยทีเดียวค่ะ
โดยเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2018 ก็ได้มีการแก้ไขเกี่ยวกับกฏหมายการจราจรโดยเรียกอีกอย่างว่า "กฎหมายยุนชางโฮ" ซึ่งเนื้อหาของกฏหมายฉบับใหม่นี้ (ฉบับพิเศษ) ได้แก้ไขในส่วนของบทลงโทษจากกรณีที่มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการเมาแล้วขับนั่นเองค่ะ โดยมีการเพิ่มบทลงโทษให้มากขึ้น และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2018 เป็นต้นมาค่ะ
หลังจากร่าง "กฎหมายยุนชางโฮ" ผ่าน บทลงโทษสำหรับการเมาแล้วขับก็มีความเข้มแข็งขึ้นค่ะ โดยกฎหมายระบุไว้ว่า "หากมีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการเมาแล้วขับ คนขับจะต้องรับโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ถึง 15 ปี" รวมถึงค่าปรับจะเพิ่มเป็น 30 ล้านวอน และหากเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงก็จะมีโทษจำคุก 3 ปีขึ้นไปจนถึงตลอดชีวิตค่ะ
3. กฏหมายคิมมินชิก (รายละเอียดเพิ่มเติม คลิก)
เมื่อ 11 กันยายน 2019 "คิมมินชิก" เด็กชายอายุ 9 ปีถูกรถพุ่งชนด้วยความเร็วสูงในขณะที่กำลังข้ามทางม้าลายบริเวณด้านหน้าโรงเรียน จนเป็นเหตุทำให้เสียชีวิตในที่สุดค่ะ
และจากอุบัติเหตุในครั้งนั้นก็ได้สร้างความสะเทือนใจให้แก่ประชาชนชาวเกาหลีเป็นอย่างมาก ทำให้มีผู้ไปลงชื่อในเว็บไซต์ของบลูเฮาส์เกาหลีถึง 400,000 รายชื่อเพื่อเรียกร้องให้ตระหนักถึงความปลอดภัยของเด็กมากขึ้นนั่นเองค่ะ
โดย "กฏหมายมินชิก" เรียกร้องให้กำหนดพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กขึ้นมาค่ะ อย่างเช่น บริเวณโดนรอบของโรงเรียน นอกจากนั้นก็ยังเรียกร้องให้ติดตั้งป้ายสัญลักษณ์ต่าง ๆ เพื่อบ่งบอกบริเวณพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กให้มีความชัดเจนค่ะ พร้อมทั้งยังเรียกร้องให้มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดเพื่อตรวจสอบความปลอดภัยตลอดเวลา และยังต้องการให้กำหนดบทลงโทษของผู้กระทำผิดให้มีโทษสูงสุดด้วยค่ะ
4. สัญญา 7 ปีของศิลปิน
ทุกคนเคยได้ยินเรื่องคำสาป 7 ปีของวงไอดอลหรือศิลปินมั้ยคะ? ว่ากันว่าเมื่อครบรอบ 7 ปีก็จะมีไอดอลหลาย ๆ วงที่ต้องแยกย้ายกันไปเพราะไม่ต่อสัญญาใช่มั้ยละคะ? แล้วทำไมต้อง 7 ปีกันนะ?
ในความเป็นจริงเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับเบื้องหลังการเติบโตของอุตสาหกรรมเคป๊อปในปี 2010 ค่ะ สัญญาที่ลงนามโดยศิลปินหรือเด็กฝึกหัดกับบริษัทมักจะเริ่มที่ระยะเวลา 8 หรือ 10 ปีเลยทีเดียวค่ะ นานใช่มั้ยละคะ? ดังนั้นหลังจากที่ได้เดบิวต์และทำกิจกรรมต่าง ๆ ในฐานะไอดอลมาซักพัก ตัวศิลปินก็อาจจะไม่พอใจกับเงื่อนไขของรายได้และเงื่อนไขของสัญญาเดิมนั่นเองค่ะ แต่การจะเปลี่ยนเนื้อหาในสัญญาก็เป็นเรื่องที่ยากมาก ๆ เช่นกันค่ะ
ต่อมาเกาหลีใต้ได้ผ่านร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสัญญาที่ลงนามโดยบริษัทเอเจนซี่ต่าง ๆ รวมถึงการลงนามของหน่วยงานทั่วไปด้วยนะคะ โดยกฎหมายระบุไว้ว่า "ระยะเวลาสูงสุดที่สามารถทำสัญญาได้จะไม่เกิน 7 ปีเท่านั้น" ด้วยเหตุนี้จึงกลายเป็นที่มาของ "คำสาป 7 ปี” ที่แฟนคลับหลาย ๆ คนกลัวนั่นเองค่ะ
5. กฎหมายซอลลี่
ในปี 2019 "ซอลลี่" ศิลปินสาวชื่อดังพบว่าเสียชีวิตโดยการฆ่าตัวตายค่ะ ซึ่งเหตุผลหลัก ๆ ก็คือเธอต้องทนรับคำวิพากษ์วิจารณ์และความคิดเห็นที่ไม่ดีมากมายบนอินเตอร์เน็ต เป็นเหตุให้เธอตัดสินใจปลดปล่อยตัวเองออกจากความทุกข์นั่นเองค่ะ
และหลังจากการเสียชีวิตของซอลลี่ ก็ได้มีการเรียกร้องให้ผ่านร่าง "กฎหมายซอลลี่" ค่ะ โดยกฎหมายฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายในการหามาตรการจัดการอย่างเข้มงวดต่อผู้ที่แสดงความคิดเห็นมุ่งร้ายต่อใครก็ตามบนอินเตอร์เน็ตนั่นเองค่ะ โดยมีการเรียกร้องให้ทุกคนที่จะเขียนคอมเมนต์ต้องระบุชื่อจริง ๆ และผู้ที่แสดงความคิดเห็นอาจจะมีความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลอื่นได้เช่นกันค่ะ
อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าเสียดายที่ "กฎหมายซอลลี่" ยังไม่ได้รับการการประกาศใช้อย่างเป็นทางการค่ะ แต่เว็บไซต์หลัก ๆ ของเกาหลีอย่าง Naver และ Daum ก็ประกาศยกเลิกฟังก์ชั่นการคอมเมนต์ในข่าวของศิลปินเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2021 รวมถึง Naver ยังได้ยกเลิก "ฟังก์ชัน Hot Search" ที่มีมานาน 16 ปีอย่างเป็นทางการด้วยค่ะ
6. กฎหมายจองอิน (รายละเอียดเพิ่มเติม คลิก)
ในเดือนตุลาคมปี 2020 "จองอิน" เด็กหญิงวัย 16 เดือนได้เสียชีวิตลงด้วย "การบาดเจ็บจากแรงภายนอก" ค่ะ โดยในระหว่างการช่วยเหลือนั้น แพทย์พบว่ากระดูกไหปลาร้า, ซี่โครง, กระดูกมือ, และกระดูกขาของจองอินมีรอยหักอย่างน่ากลัวค่ะ อย่างไรก็ตามสาเหตุการเสียชีวิตของจองอินคือการแตกและบาดเจ็บของอวัยวะหลายส่วน รวมถึงมีเลือดออกในช่องท้องอย่างรุนแรง นอกจากนี้ในรายงานการชันสูตรพลิกศพยังชี้ให้เห็นว่าตับอ่อนของจองอินได้รับความเสียหายอย่างรุงแรงด้วยค่ะ
และหลังจากกรณีดังกล่าวถูกเปิดเผยผ่านรายการของ SBS ก็ได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วทั้งเกาหลีเลยล่ะค่ะ รวมถึงทางด้านนักการเมือง, องค์กรตุลาการ, และรัฐสภาก็ได้พยายามมากขึ้นในการประกาศจุดยืนและแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองเด็ก จนกลายมาเป็น "กฎหมายจองอิน" นั่นเองค่ะ
"กฎหมายจองอิน" ได้รับการแก้ไขจากกฎหมายการคุ้มครองเด็ก โดยได้ระบุไว้ว่าหากสงสัยว่าเด็กถูกล่วงละเมิดไม่ว่าจะทางกายหรือทางวาจา เจ้าหน้าที่จะสามารถเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ทันที รวมถึงเพิ่มการลงโทษผู้ที่ทำร้ายและทารุนเด็ก และดูแลความปลอดภัยของเด็กที่ถูกทารุณกรรมให้ดีที่สุดนั่นเองค่ะ
นอกจากนี้สาธารณชนและคนดังเกาหลีจำนวนมากก็ได้แสดงความคิดเห็นบน SNS เพื่อแสดงความเสียใจต่อเด็กหญิงจองอินที่ไม่สามารถเติบโตได้อย่างปลอดภัย (#정인아미안해) ด้วยค่ะ
7. กฎหมาย Nth Room (รายละเอียดเพิ่มเติม คลิก)
เหตุการณ์ Nth Room สร้างความตกใจให้กับคนเกาหลีและทั่วทั้งโลกอย่างรุนแรงเลยล่ะค่ะ โดยมีการใช้ SNS เป็นตัวชักจูงให้เหยื่อเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวต่าง ๆ และภาพเปลือยของตนเอง จากนั้นเหยื่อก็จะโดนขู่และโดนบังคับให้ทำตามคำสั่งต่าง ๆ ไปจนถึงการบังคับเสพยาเสพติดเลยล่ะค่ะ ซึ่งจำนวนเหยื่อจาก Nth Room ก็มีจำนวนนับไม่ถ้วน และเหตุการณ์นี้ก็กลายเป็นบาดแผลที่ยากจะเยียวยาตลอดชีวิตของพวกเธอค่ะ
อย่างไรก็ตามหลังจากการจับกุมผู้ต้องสงสัย ทางเกาหลีใต้ก็รีบแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ Nth Room โดยหวังว่าจะยับยั้งแนวโน้มที่เลวร้ายในอนาคตได้ค่ะ
ในการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้จะว่าด้วยการป้องกันและควบคุม Nth Room นั่นเองค่ะ โดยจะมีการเพิ่มค่าปรับและบทลงโทษสำหรับการเผยแพร่, ครอบครอง, ซื้อขาย, และรับชมภาพยนตร์ของการมีเพศสัมพันธ์จากความไม่ยินยอม และจากเหยื่อที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะค่ะ รวมถึงการข่มขืนและการกระทำอนาจารก็ได้รวมอยู่ในกฎหมายฉบับนี้ด้วยเช่นกันค่ะ
8. การผ่อนผันการเกณฑ์ทหารของ BTS (รายละเอียดเพิ่มเติม คลิก)
ในเกาหลี การยกเว้นการเกณฑ์ทหารให้กับนักกีฬาที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศมีให้เห็นได้ทั่วไปค่ะ ดังนั้นผู้คนจึงเริ่มตั้งคำถามว่าแล้วศิลปินหรือนักกีฬา E-Sport ที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศเช่นกันล่ะ? พวกเขาก็ควรจะได้รับสิทธิพิเศษตรงนี้ด้วยหรือไม่? (แน่นอนว่าบางคนก็ไม่เห็นด้วยค่ะ)
ทางด้านสมาชิกรัฐสภาเกาหลีก็ได้มีการพูดคุยกันหลายครั้งเกี่ยวกับการยกเว้นการเกณฑ์ทหารให้กับคนดังค่ะ ซึ่งก็ได้รับความสนใจจากทั่วโลกเลยทีเดียว มีหลาย ๆ คนที่เชื่อว่า "ช่วงเวลาที่หายไปสองปีสำหรับไอดอลหรือคนดังในฐานะทหารนั้น มีค่าพอ ๆ กับช่วงเวลาที่นักกีฬาเหรียญทองโอลิมปิกไม่สามารถฝึกซ้อมได้" ค่ะ
และในที่สุด เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2020 เกาหลีใต้ก็ได้ลงมติให้ผ่านการแก้ไขกฎหมายการรับราชการทหารค่ะ โดยเนื้อหาของการแก้ไขคือ "บุคคลที่มีความยอดเยี่ยมในด้านศิลปวัฒนธรรมที่เป็นที่นิยม หรือผู้ที่มีส่วนช่วยอย่างมากในการสร้างเสริมภาพลักษณ์ของประเทศ มีความเป็นไปได้ที่จะเลื่อนการเกณฑ์ทหารไปจนถึงอายุ 30 ปี” ค่ะ ซึ่งหลาย ๆ คนก็เชื่อว่าร่างกฎหมายนี้เป็นร่างกฎหมายที่มีขึ้นเพื่อ BTS โดยพวกเขาและเฟคเกอร์ เกมเมอร์ชื่อดังของเกาหลีได้รับสิทธิ์นี้เป็นกลุ่มแรก
9. กฎหมายคุ้มครองศิลปินที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ
ในปัจจุบัน อายุของไอดอลที่ได้เดบิวต์มีแนวโน้มที่จะลดลงเรื่อย ๆ ค่ะ ดังนั้นเพื่อรับมือกับปรากฏการณ์นี้ นอกจากกฎหมายที่เกี่ยวกับการใช้แรงงานเยาวชนแล้วนั้น ทางรัฐบาลยังได้กำหนดแผนการร่างกฎหมายใหม่เพื่อปกป้องศิลปินที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะขึ้นมาด้วยค่ะ
โดยศิลปินที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะจะไม่ได้รับอนุญาตให้ปรากฏตัวในการออกอากาศสดและการบันทึกวิดีโอหลัง 22.00 น. ในทุกกรณีค่ะ ซึ่งนี่ก็เป็นกฎหมายที่มีขึ้นเพื่อปกป้องพัฒนาการทางร่างกายและจิตใจของศิลปินที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะนั่นเอง ดังนั้น "วอนยอง" ที่ได้เดบิวต์จากรายการ Produce 48 และยังไม่บรรลุนิติภาวะก็จะไม่สามารถทำงานได้หลังจากเวลา 22.00 น. เป็นต้นไปค่ะ
นอกจากนี้ "แผนปรับปรุงเพื่อการคุ้มครองสิทธิและผลประโยชน์ของศิลปินที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ" ยังคุ้มครองไปถึงการเซ็นสัญญา, การเดบิวต์, และกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยนะคะ
10. กฎหมาย JYJ
ในตอนแรก TVXQ บอยแบนด์ชื่อดังของเกาหลีประกอบไปด้วยสมาชิก 5 คนค่ะ แต่หลังจากที่สมาชิก 3 ใน 5 คนฟ้องร้องตันสังกัดในปี 2009 และกลายเป็น JYJ นั้น ก็โดนแบนไม่ให้ออกโทรทัศน์นานถึง 6 ปีเลยทีเดียวค่ะ
และหลังจากการผลักดันที่ยาวนาน ในที่สุด "กฎหมาย JYJ" ก็ได้ประกาศใช้อย่างเป็นทางการค่ะ! โดยกฏหมายฉบับนี้มีขึ้นเพื่อปกป้องศิลปินที่ถูกขึ้นบัญชีดำหรือถูกกีดกันไม่ให้ออกสื่ออย่างไม่เป็นธรรมในเกาหลีนั่นเองค่ะ โดยสถานีโทรทัศน์หรือสื่อที่ละเมิดกฎหมายจะโดนสั่งปรับมากถึง 2 เปอร์เซ็นต์ของรายได้เลยทีเดียวค่ะ
เป็นยังไงกันบ้างคะกับการแก้ไขกฎหมายหลังเหตุการณ์สำคัญในเกาหลี? แม้การแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ ให้แข็งแรงและยุติธรรมมากขึ้นจะเป็นผลดีในภายหลังขนาดไหน แต่เราก็หวังว่าจะไม่มีเหตุการณ์ร้ายแรงจนต้องแก้ไขกฎหมายอีกนะคะ
🤞🏻Subscribe พวกเรา Creatrip บน Youtube
✨Creatrip Instagram
instagram.com/creatrip.thailand