บทสัมภาษณ์เฟรชชี่มหาลัยเกาหลีปี 2020
บทสัมภาษณ์เฟรชชี่มหาลัยเกาหลีปี 2020
สวัสดีค่ะทุกคน! พวกเรา Creatrip ศูนย์รวบรวมข้อมูลการท่องเที่ยวเกาหลีที่อัพเดทโดยคนเกาหลีในทุกๆวัน
#มหาวิทยาลัยเกาหลี
#เฟรชชี่เกาหลี #COVID-19
เมื่อเดือนกันยายนเป็นช่วงเปิดเทอมสองของมหาวิทยาลัยในเกาหลีค่ะ
แต่ "ความฝันในรั้วมหาวิทยาลัย" ของนักเรียนปี 20 (เข้าเรียนในปี 2020) นักเรียนใหม่ที่เข้ามาเมื่อต้นปีนี้ยังคงอยู่ในช่วงต้องเว้นระยะห่างทางสังคม
ซึ่งทำให้ต้องห่างไกลจากความฝันในมหาวิทยาลัยที่พวกเขาใฝ่ฝันเนื่องจากโควิด 19 และการที่ไม่สามารถมาที่มหาลัยได้ก็ทำให้เขาเรียกตัวเองกันว่า "เด็กปีโคโรนา" รู้สึกเศร้าไปด้วยเลยค่ะ
เราเองก็เรียนในมหาวิทยาลัยเกาหลีและเป็นนักเขียนของ CreateTrip ดังนั้นเราจะพาทุกคนมาฟังความคิดเห็นของเหล่านักเรียนกันค่ะ! เราไปสัมภาษณ์นักเรียนใหม่เกี่ยวกับชีวิตในวิทยาลัยมา
รวมน้องคนที่มาให้สัมภาษณ์แล้ว เด็กปี 20 ส่วนใหญ่ไปมหาลัยน้อยกว่า 10 ครั้งเมื่อเทอมที่แล้วค่ะ
เราเองยังรู้สึกแปลกใจเกี่ยวกับชีวิตในมหาวิทยาลัยของเด็กปีนี้ ซึ่งแตกต่างกับเรามากเมื่อเทียบกับตอนที่เราเข้าเรียนในปี 2017 ค่ะ
เราคุยกันตั้งแต่เรื่องชีวิตไปจนถึงปัญหาการคืนเงินค่าเทอมของนักศึกษาทั่วประเทศเลยค่ะ
มาดูกันว่าชีวิตของเฟรชชี่ที่เข้าในปี 17 และปี 20 นั้นมีความแตกต่างกันอย่างไรนับตั้งแต่โควิดระบาด ไปกันเลยค่ะ!
🤞🏻 ติดตามพวกเรา Creatrip บน Youtube
instagram.com/creatrip.thailand
🎈ช้อปปิ้ง|สั่งซื้อสินค้าเกาหลี
ชีวิตของเฟรชชี่เกาหลียุคโควิด
แนะนำตัวเองหน่อย
Q. สวัสดีจ้า เราเป็นนักศึกษาปี 17 และเป็นนักเขียนของ Create Trip
วันนี้เราจะมาสัมภาษณ์น้องเฟรชชี่ปี 20 กัน ช่วยแนะนำตัวหน่อยจ้า
A. สวัสดีค่ะ เป็นนักศึกษาปี 20 ที่เข้ามหาวิทยาลัย K เมื่อเดือนมีนาคมปีนี้นะคะ
ในฐานะที่เป็นปี 20 หรือที่เรียกกันว่าปีโคโรนา จะมาเล่าให้ฟังว่าใช้ชีวิตยังไงค่ะ
เรียนเป็นแบบออนไลน์หรือออฟไลน์?
A. ที่มหาลัยมีทั้งเรียนแบบออนไลน์และออฟไลน์ค่ะ
มีคลาสที่ไม่ใช่ออฟไลน์ 5 ตัวจากทั้งหมด 6 ตัว และทั้ง 5 นั้นยกเว้นวิชาแลปเรียนทางออนไลน์ค่ะ
ที่เรียนออนไลน์มีทั้งคลาสที่อัดไว้กับคลาสแบบเรียลไทม์ค่ะ (ZOOM)
เนื่องจากวิธีการเรียนไม่เหมือนกันทุกตัวบางทีก็มีงงบ้างเหมือนกันค่ะ
ตอนนี้กำลังเรียนวิชาออฟไลน์ก็คือวิชา "พิลาทิส" ซึ่งเป็นวิชาทั่วไปค่ะ
ต้องไปมหาลัยอาทิตย์ละครั้งเพื่อเรียนพิลาทิสครั้งละ 1 ชั่วโมง 30 นาทีค่ะ
บางทีก็งงเหมือนกันค่ะว่าสรุปมาเรียนมหาลัยหรือมาเรียนพิลาทิส
Q. ก่อนที่จะมีโควิดมักจะเรียนแบบออฟไลน์กัน นักเรียนจึงสามารถถามคำถามได้เยอะมาก ดังนั้นจึงเป็นการเรียนไปด้วยและสื่อสารกับอาจารย์อย่างแอคทีฟไปด้วย แต่ถ้าเป็นคลาสที่บันทึกไว้หรือเป็นวิดีโอก็ไม่น่าจะทำแบบนี้ได้ เป็นยังไงบ้างคะ?
A. ใช่ค่ะ คิดว่าการได้ถามคำถามและดิสคัสกันเยอะๆเป็นสเน่ห์ของชีวิตในมหาลัยเลย แต่บางครั้งก็ไม่สามารถสื่อสารได้เยอะเพราะมีปัญหาอย่างเรื่องอินเทอร์เน็ต คุณภาพเสียงคุณภาพของภาพ บลาๆ
แต่ก็ยังมีข้อดีหลายอย่างของการเรียนออนไลน์นะคะ
เราต้องนั่งรถไฟใต้ดินหรือรถบัสจากบ้านไปโรงเรียนประมาณชั่วโมงครึ่ง เลยคิดว่ามันก็ยังเป็นข้อดีที่สามารถเรียนได้โดยไม่ต้องไปกลับเป็นเวลาสามชั่วโมง
และที่ดีขึ้นไปอีกคือจะไม่ตื่นสายแม้จะนอนเช้าแล้วตื่น 5 นาทีก่อนเรียนค่ะ!
ข้อดีอีกอย่างคือสามารถทำงานพาร์ทไทม์ควบคู่กันไปได้ค่ะ
เราทำงานพาร์ทไทม์เป็นผู้ช่วยที่โรงเรียนกวดวิชาประมาณ 3-4 ชั่วโมงต่อวันค่ะ
ซึ่งคลาสที่เป็นแบบอัดไว้แค่ต้องเรียนภายในเวลาที่กำหนดก็นับเป็นattendanceแล้ว ดังนั้นเลยสามารถทำงานไปด้วยเรียนไปด้วยได้ค่ะ
Q. ความจริง ที่ว่าไม่ต้องเสียเวลาไปเรียนนี่เป็นข้อได้เปรียบจริงๆ!
แต่ตอนที่พี่เรียนแบบออฟไลน์จะชอบง่วงนอนในคลาสเช้าๆ ไม่ก็ขึ้นแท็กซี่เพื่อที่จะได้ไม่มาสายอยู่หลายรอบมาก ซึ่งตรงนี้แอบอิจฉาที่เรียนออนไลน์อยู่เหมือนกัน
แล้วจากประสบการณ์คิดว่าคลาสแบบออฟไลน์กับออนไลน์แบบไหนดีกว่ากันคะ?
A. แน่นอนว่าแบบออนไลน์ก็มีข้อดี แต่ส่วนตัวคิดว่าชอบแบบออฟไลน์มากกว่าค่ะ
คิดว่าการได้ถามคำถามและดิสคัสเนื้อหากับอาจารย์และเพื่อนๆน่าจะเป็นการเรียนที่มีความหมายกว่า
คลาสแบบออฟไลน์รู้สึกเหมือนการสื่อสารทางเดียวและเหมือนโดนยัดเยียด ซึ่งไม่ต่างกับตอนเรียนสมัยมัธยมเท่าไหร่เลยแอบรู้สึกเสียดายค่ะ
จนถึงตอนนี้ทำงานกลุ่มไปแล้วสี่งาน แต่ก็รู้สึกว่ายากมากเพราะมันต่างกันสิ้นเชิงกับงานกลุ่มมหาลัยที่เคยคิดไว้
ทั้งสี่งานก็แชร์งานกับคนที่ไม่เคยเจอผ่าน Google Docs, Kakao Talk และประชุมกันผ่าน ZOOM
มันน่าหงุดหงิดเพราะคืบหน้าช้ามาก อาจเป็นเพราะไม่เคยได้เจอกันเลยแม้แต่ครั้งเดียวและทุกอย่างทำผ่านทางออนไลน์
ไม่แน่ใจว่างานกลุ่มออกมาดีมั้ยและน่าเสียดายที่ไม่สามารถสนิทกับเพื่อนในกลุ่มได้ค่ะ
ค่าเทอมและคุณภาพของการเรียน
นักศึกษามหาวิทยาลัยเดินขบวนไปยังกระทรวงศึกษาธิการเพื่อคืนค่าเล่าเรียน
ที่มา: Chosun Daily
Q. คุณภาพของการเรียนเป็นอย่างไรบ้างคะ? เมื่อเทียบกับออฟไลน์แล้วคลาสออนไลน์มีการสื่อสารน้อยกว่าและมีข้อจำกัดมากกว่า ดังนั้นฉันจึงคิดว่าน่าจะมีปัญหาเรื่องคุณภาพของการเรียนด้วย ซึ่งนักศึกษามหาวิทยาลัยก็มีการประท้วงเพื่อขอคืนค่าเล่าเรียนกันทั่วประเทศเลย
A. ใช่ค่ะ ค่าเรียนสูง แต่คุณภาพของการเรียนแตกต่างกันไปตามอาจารย์แต่ละคน
จะมีอาจารย์ที่บันทึกและอัปโหลดคลาสทุกสัปดาห์ในวิดีโอคุณภาพดีๆแล้วเปิดให้มีการถามคำถามในช่วงเรียนแบบเรียลไทม์ แต่ก็ยังมีอาจารย์ที่ไม่เป็นแบบนั้นแล้วสอนฆ่าเวลาไปเฉยๆ
มีเพื่อนคนนึงอาจารย์ได้อัพวิดีโอของเมื่อ 10 ปีก่อนแล้วก็ต้องดูวิดีโอภาพแตกๆเสียงไม่ดีไปทั้งเทอมเลย
ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้คิดว่าเปลืองค่าเทอมมากจริงๆค่ะ
พอลองคุยกับเพื่อนๆก็รู้ว่ามีคลาสที่เป็นแบบนี้เยอะมากซึ่งน่าหงุดหงิดจริงๆ
คิดว่าคุณภาพของการเรียนแบบนั้นควรได้รับการจัดการโดยมหาลัย แต่คิดว่าแค่นั้นยังไม่พอค่ะ
ยังมีเรื่องอื่นๆอย่างการไม่สามารถใช้facilityในมหาลัยได้ นอกจากคลาสเรียนที่มีคุณภาพต่ำมากเมื่อเทียบกับค่าเทอมอีกด้วยค่ะ
นักศึกษากำลังเดินขบวนประท้วงหน้ากระทรวงศึกษาธิการ
ที่มา: BBC KOREA
ดังนั้นตั้งแต่เดือนมิถุนายนจนถึงเดือนกรกฎาคมปีนี้เด็กมหาวิทยาลัยหลายคนรวมถึงมหาวิทยาลัย K ก็ออกมาประท้วงเรื่องค่าเทอมค่ะ
เป็นการประท้วงออฟไลน์ที่นำโดยสมาคมนักศึกษา เราไม่สามารถเข้าร่วมได้ก็เลยดูไลฟ์สดทาง Instagram และ YouTube ค่ะ
ผลลัพธ์ก็คือมีการคืนเงินประมาณ 5 ถึง 10% ภายใต้ชื่อ "ทุนการศึกษาพิเศษโคโรน่า" ค่ะ
ถึงเงินจำนวน 150,000 ถึง 300,000 วอนจะน้อยกว่าจำนวนที่เรียกร้อง แต่ก็ถือว่ายังโอเคที่คืนให้บ้างเพราะในตอนแรกมหาลัยปฏิเสธที่จะพูดคุยเรื่องนี้ค่ะ
ช่วงสอบ
Q. ได้ยินมาว่าตอนนี้เป็นช่วงสอบ แต่ปีที่แล้วพี่ใช้เวลาทั้งคืนอยู่ที่ห้องสมุดและร้านกาแฟที่เปิด 24 ชั่วโมงใกล้มหาลัยและไปสอบในเช้าวันรุ่งขึ้น
ในช่วงโควิดนี้ปีนี้ทุกคนเตรียมตัวสำหรับการสอบยังไงคะ?
A. ไม่เคยได้สัมผัสการอยู่มหาลัยทั้งคืน เคยไปห้องสมุดมหาลัยแค่ครั้งเดียวด้วยซ้ำค่ะ ㅠㅠ
การสอบส่วนใหญ่เปลี่ยนเป็นสอบที่บ้านหรือทำงานส่งทางออนไลน์แทน ไม่ค่อยได้ไปมหาลัยเพื่อไปสอบเลยค่ะ
เวลาทำข้อสอบออนไลน์จะต้องทำและส่งภายในเวลาที่อาจารย์กำหนด
และเพื่อป้องกันการโกงก็จะเปิดZOOMไว้แล้วทำข้อสอบค่ะ
มีบางครั้งที่ไปมหาลัยเฉพาะตอนที่ต้องไปสอบที่มหาลัย
เนื่องจากจะต้องเว้นระยะห่าง โต๊ะก็จะแยกกันแล้วนั่งทำข้อสอบเงียบๆแล้วกลับบ้าน
เพราะว่าเรียนออนไลน์มาทุกวันก็เลยเห็นหน้าอาจารย์ที่เจอในคอมตลอดเป็นครั้งแรก ความรู้สึกเหมือนได้เจอดาราเลยค่ะ
ที่มา: Semyung University Journalism School
Q. ถ้าทำข้อสอบออนไลน์ก็อาจมีปัญหาเรื่องความยุติธรรมของเกรด
ช่วงก่อนโควิด มหาลัยในเกาหลีส่วนใหญ่จะให้เกรดแบบอิงกลุ่มอย่างเช่นจะมีคนได้ A ไม่เกิน35% หรือคนจะได้ A หรือ B ไม่เกิน80%
ดังนั้นหลายครั้งก็แข่งขันกันสุดๆเพื่อให้ได้คะแนนสูงๆ ซึ่งหลายครั้งก็เสียดายเพราะเคยเจอที่โหดขนาดห่างกันคะแนนเดียวก็ได้คนละเกรด แล้วตอนนี้ให้เกรดกันยังไงเอ่ย?
A. เกรดตัดแบบอิงเกณฑ์ตามที่อาจารย์แต่ละคนกำหนด ดังนั้นถ้าอ่านหนังสือไปบ้างก็จะได้เกรดดีๆง่าย ตอนนี้คลาสที่เรียนใช้ตัดเกรดแบบอิงเกณฑ์หมดเลย ซึ่งก็ลดการแข่งขันลงและถ้าทำดีกว่าเกณฑ์ที่อาจารย์กำหนดไว้ก็จะได้เกรดดีง่ายขึ้น ซึ่งตรงนี้คิดว่าเป็นข้อดีค่ะ
กิจกรรมในมหาวิทยาลัย
2019 Hongik University School Festival Celebration Lineup / มี 8 ศิลปินรับเชิญ อย่าง Red Velvet, PSY และ Beenzino แสดงในงานตลอด 3 วัน
ที่มา: Hongik University
Q. ขึ้นชื่อว่าเป็นเด็กปี 1 ในเกาหลีนั้นมีความหมายพิเศษกว่านั้นมาก
ตอนที่พี่ยังเป็นเฟรชชี่ก็มักจะเข้าร่วมกิจกรรมของมหาลัยอย่างเช่น ปฐมนิเทศ ปาร์ตี้เปิดเทอม ปาร์ตี้ปิดเทอม งานกีฬา หรือไปดูศิลปินนักร้องที่มางานเทศกาลของมหาลัย
เป็นช่วงที่นอกจากจะได้เจอเพื่อนจากคณะเดียวกันแล้วยังได้เจอเพื่อนจากคณะอื่นด้วย แล้วตอนนี้เป็นยังไงบ้าง?
A. ไม่เคยได้ฝันเรื่องกิจกรรมในมหาลัยเลยค่ะ
แต่ก็มีการจัดปาร์ตี้เปิดเทอมกับปิดเทอมเลยได้เจอรุ่นพี่กับเพื่อนๆประมาณสองครั้งค่ะ
ก็เป็นการเจอกันกินข้าวสั้นๆค่ะ
ส่วนใหญ่ก็เป็นออนไลน์หมดอย่างทัวร์มหาลัยในไอจีหรือเจอกันในZOOM
เนื่องจากกิจกรรมโดนยกเลิกหมด สมาคมนักศึกษาเองก็พยายามทำเพื่อทั้งเด็กเก่าและเด็กใหม่อย่างเปิดช่อง YouTube อัพวิดีโอการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยสำหรับเด็กใหม่ หรือทำจดหมายข่าวค่ะ
Konkuk University YouTube
Q.
ตอนที่พี่ยังเป็นเด็กใหม่ก็จะอยู่กับเพื่อนคณะเดียวกันและใช้เวลาร่วมกันเยอะมากทั้งตอนทำกิจกรรม ตอนสอบ แต่ถ้ากิจกรรมถูกยกเลิกแล้วเจอกันแค่เทอมละสองครั้งแบบนี้คิดว่าน่าจะสนิทกันยากใช่มั้ยคะ คิดยังไงบ้างคะ?
A. ใช่ค่ะ เอกของเรามีกันประมาณ 40 คน แต่พอเจอกันไม่กี่ครั้งก็จำชื่อกันยากค่ะ
แล้วพวกผู้ชายหลายคนก็จะเข้ากรมกันตอนเทอมสอง ซึ่งยังไม่ทันจะสนิทกันเลยก็จะไม่ได้เจอกันอีกสองปี
ยังรู้สึกแปลกๆอยู่เลยที่ต้องเจอหน้าเพื่อนกันแค่ไม่กี่ครั้งหรือต้องคุยกันแค่ทางโซเชียลค่ะ
ชมรม
Q. อีกอย่างที่ขาดไม่ได้ในชีวิตมหาลัยคือชมรม พี่ไม่เคยมีงานอดิเรกเลยจนขึ้นปี 1 ได้เห็นชมรมจากหลายสาขามากๆ รู้สึกแฮปปี้มากเวลาเลือกชมรม
ที่มหาวิทยาลัยKก็ยังมีชมรมหลายแบบอย่างเช่นวงดนตรี จิตอาสา กีฬา ศิลปะ แล้วเคยได้สัมผัสกิจกรรมชมรมมั้ยคะ?
A. สมัครเข้าชมรมไปตั้งแต่ช่วงที่เพิ่งเปิดเทอมเลยค่ะ
ส่วนตัวสนใจวงออเคสตรามาตลอดก็เลยเข้า แต่เนื่องจากวงออเคสตรามีคนเยอะก็เลยไม่เคยได้มารวมตัวกันเลยค่ะ
ดูเหมือนว่าจะไม่ใช่แค่ชมรมเราอย่างเดียว แต่ทุกชมรมก็ทำกิจกรรมกันไม่ได้ค่ะ
ความฝันชีวิตมหาลัยที่ไม่สามารถเติมเต็มได้เพราะโควิด
Q. ไม่ว่าใครก็น่าจะมีความฝันเกี่ยวกับชีวิตมหาลัย
ตอนที่ยังเป็นเฟรชชี่ก็พูดกับเพื่อนว่าเคยฝันว่าจะเดตในมหาลัย ถือหนังสือเรียนเดินไปมา ไปโซเกตติ้ง(นัดบอด) บลาๆ ซึ่งก็ได้ทำอย่างที่เคยฝันไว้เลย
แต่สำหรับเด็กปี 20 ชีวิตมหาลัยน่าจะไม่เหมือนกับที่เคยฝันไว้เยอะเลย มีความฝันหรือเป้าหมายในชีวิตมหาลัยอะไรที่ไม่เคยได้ทำบ้างเนื่องจากโควิดคะ?
A. มีความฝันมากมายเกี่ยวกับชีวิตในมหาวิทยาลัยเลยค่ะ
อยากจะเดินเล่นถือหนังสือในมหาลัยมากเลยค่ะ ㅠㅠ
แต่ตอนนี้ยังไม่ค่อยรู้เลยว่ามหาลัยเป็นยังไง
สิ่งที่ใฝ่ฝันมานานที่สุดคือการเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนกับไป MT(ทริปรับน้อง)ค่ะ
การไปแลกเปลี่ยนเป็นความฝันชีวิตมหาลัยที่ฝันมาตั้งแต่สมัยมอต้นเลย
พอสอบติดมหาลัยก็เริ่มหาข้อมูลเรื่องแลกเปลี่ยนเลยค่ะ
แต่ก็ต้องผิดหวังเพราะแผนทุกอย่างพังหมดเพราะโควิดค่ะ
การได้ไป MT เล่นเกมกินเหล้ากับรุ่นพี่และเมาท์กันทั้งคืนก็เป็นภาพในฝันของชีวิตมหาลัยเหมือนกันค่ะ
แต่พอเข้ามหาลัยมาโควิดก็ระบาดพอดี กิจกรรมทั้งหมดก็ถูกยกเลิก ดังนั้นเลยไม่น่าจะได้ทำตามที่วาดฝันไว้ในปีนี้ค่ะ
ในชีวิตจริงตอนนี้แค่ดู Vlog MT บนยูทูปก็รู้สึกดีแล้วค่ะ
ตอนนี้ไม่ได้อยากไป MT, โซเกตติ้งหรืองานเทศกาลแล้ว อยากไปเรียนในห้องเรียนและกินข้าวกับเพื่อนๆหลังเลิกคลาสค่ะ
ลองสัมผัสบรรยากาศ MT ของเด็กมหาลัยเกาหลีได้เลย!
Q. ช่วงปีหนึ่งเป็นปีแรกที่จะได้เที่ยวสุดๆหลังจากต้องอดทนและสอบเข้ามหาวิทยาลัย
ตอนที่อยู่ปีที่ 1 พี่คิดว่าแทนที่จะเรียนหนักเหมือนตอนมอปลายก็ไปเที่ยว กินเหล้า เที่ยวงานเทศกาลกับรุ่นพี่
แต่ปีนี้คิดว่าน่าเสียดายไม่น้อยเลยที่ต้องทำได้แค่เรียนออนไลน์แล้วจบ
รู้สึกยังไงบ้างกับปีหนึ่งที่กำลังจะจบลงแล้ว ฝากอะไรทิ้งท้ายหน่อยจ้า
A. สรุปก็คือมันเศร้าและรู้สึกว่างเปล่า
ในเกาหลีตั้งแต่เรียนมัธยมครูมักจะพูดว่า "ค่อยเที่ยวตอนอยู่มหาลัย" และ "อดทนจนกว่าจะเข้ามหาลัย เข้ามหาลัยแล้วจะทำได้ทุกอย่างที่อยากทำตอนนี้" ซึ่งก็เคยคิดอย่างนั้น แต่ตอนนี้คือทำไม่ได้เลย
เราใฝ่ฝันถึงชีวิตในมหาลัยมาประมาณ 12 ปีตั้งแต่เรียนประถมว่าจะได้ไปเที่ยวหลายๆที่ ได้เข้าชมรม ได้เป็นกรรมการนักศึกษา ได้ทำกิจกรรมเยอะๆ
แล้วก็เสียใจที่แผนการทั้งหมดที่วางไว้อย่างไปสอบภาษาเพื่อไปแลกเปลี่ยน เข้าฟิตเนส ไปMT ไปกิจกรรมสำหรับเฟรชชี่ ไปอ่านหนังสือห้องสมุดก็แตกสลายเป็นฟองสบู่เลยค่ะ
แต่ความรู้สึกนี้คงไม่เกิดกับเราคนเดียว น่าจะเกิดกับทุกคนและไม่ว่าในประเทศไหนๆค่ะ
เชื่อว่ามีหลายคนที่ทำตามแผนที่วางไว้ไม่ได้เพราะโควิดเหมือนๆกันกับเรา ก็ขอให้ผ่านช่วงเวลานี้ไปได้และมาวางแผนสนุกๆว่าจะใช้ชีวิตหลังโควิดยังไงกันดีกว่าค่ะ ขอให้ทุกคนสู้ๆนะคะ!
จากการสัมภาษณ์น้องปี 20 เราได้พูดคุยกันเรื่องชีวิตในมหาวิทยาลัยที่เปลี่ยนไปจากโควิดและความฝันของนักศึกษามหาวิทยาลัยที่ไม่สามารถทำให้เป็นจริงได้
ปัจจุบันมหาลัยในเกาหลีส่วนใหญ่เปิดสอนแบบออนไลน์และนักศึกษาใหม่แทบจะไม่ได้เข้ามาในมหาวิทยาลัยเลย ดังนั้นจากการสัมภาษณ์จึงจะเห็นได้ว่ามีเฟรชชี่หลายคนที่ผิดหวังกับชีวิตในมหาวิทยาลัยค่ะ
ตอนที่พูดว่า "ตอนนี้ไม่ได้อยากไป MT, โซเกตติ้งหรืองานเทศกาลแล้ว อยากไปเรียนในห้องเรียนและกินข้าวกับเพื่อนๆหลังเลิกคลาสค่ะ" เป็นประโยคที่ฟังแล้วใจหายมากๆค่ะ
ซึ่งเราเองก็เคยวาดฝันไว้เกี่ยวกับชีวิตในมหาวิทยาลัยมาตั้งแต่ยังเป็นนักเรียน พอเห็นน้องๆที่ไม่สามารถทำอย่างที่ฝันไว้ได้ก็สัมผัสได้ถึงความผิดหวังนั้นเลยค่ะ
เรารู้สึกเสียใจที่เด็กปี 20 ไม่สามารถสนุกกับชีวิตในมหาวิทยาลัยได้เนื่องจากโควิด
ซึ่งก็หวังว่าสถานการณ์จะจบลงเร็วๆนี้และก็หวังว่าหลายๆคนจะสามารถบรรลุเป้าหมายที่หวังไว้มาตั้งแต่ก่อนเกิดโควิดนะคะ!
ทุกคนอ่านบทสัมภาษณ์นี้แล้วเป็นอย่างไรบ้างคะ?
ชีวิตเฟรชชี่เกาหลีเหมือนเฟรชชี่ในไทยรึเปล่า?
คิดว่าเหมือนหรือแตกต่างกันยังไงมาแชร์กันเยอะๆนะคะ
ถ้าหากมีคำถามเพิ่มเติม สามารถเขียนคอมเมนท์ด้านล่างนี้ได้เลย หรือส่งอีเมล์มาหาเราได้ที่ help@creatrip.com เดี๋ยวเราจะรีบตอบกลับให้เร็วที่สุดค่ะ แล้วเจอกันใหม่โพสต์หน้าค่ะ!
🤞🏻 ติดตามพวกเรา Creatrip บน Youtube
instagram.com/creatrip.thailand
🎈ช้อปปิ้ง|สั่งซื้อสินค้าเกาหลี
โพสต์ที่น่าสนใจ |
ชีวิตที่เปลี่ยนไปหลังโควิด |
ชีวิตเด็กต่างชาติในมหาลัยเกาหลี |
วัฒนธรรมมหาลัยเกาหลี |