ทำไมซีรีส์เกาหลีถึงมีแต่ฉากกิน กิน กินและกิน?
เบื้องลึกเบื้องหลังของเรื่องอาหารในซีรีส์เกาหลีที่เป็นมากกว่าแค่ 'การกินเพื่อดับความหิว'
สวัสดีค่ะทุกคน! พวกเรา Creatirp ศูนย์รวบรวมข้อมูลการท่องเที่ยวเกาหลีที่อัพเดทโดยคนเกาหลีในทุก ๆ วัน
#ซีรีส์เกาหลี #อาหารเกาหลี #วัฒนธรรมเกาหลี
#K-wave #เที่ยวเกาหลี
#ติ่งเกาหลี #เรื่องน่ารู้
คอซีรีส์หลายคนคงเคยเห็นซีนทานอาหารในเรื่องที่ดูผ่านตากันมาบ้างแล้วใช่มั้ยคะ? ดูไปก็หิวไป จนบางทีก็อยากเดินไปร้านอาหารเกาหลีให้มันรู้แล้วรู้รอด 555
แต่รู้มั้ยคะว่า ฉากทานอาหารไม่ได้แค่ใส่มางั้นๆ เพื่อเติมฉากว่างๆ ให้เต็มไป แต่ยังมีความหมายเบื้องหลังแฝงอยู่และเป็นส่วนหนึ่งของฮัลรยูหรือกระแสเกาหลีที่ดังระเบิดเถิดเทิงไปทั่วโลกในตอนนี้อีกด้วย เอาล่ะค่ะ ตามเรามาดูเกร็ดน่ารู้ที่ซ่อนอยู่ในฉากกินของซีรีส์เกาหลีกันเลย!~
🤞🏻Subscribe พวกเรา Creatrip บน Youtube
✨Creatrip Instagram
instagram.com/creatrip.thailand
อาหารและชนชั้นในเกาหลี
ทุกคนเป็นเหมือนกันมั้ยคะ? เวลาดูฉากกินอาหารในซีรีส์แล้วหิวสุด ๆ จนอยากจะเดินออกไปหาซื้อกินตาม แต่ซีรีส์ก็ดันออกดึกตลอด ร้านรวงปิดหมดแล้ว ฮือ
จริง ๆ แล้วอาหารในเรื่องมีการบ่งบอกถึงชนชั้นของตัวละครนั้น ๆ ด้วยนะคะ อย่างเช่น อาหารจำพวกต็อกปกกี รามยอน จาจังมยอนหรือซุนแด ถือเป็นอาหารของชนชั้นแรงงานเพราะราคาถูก หาได้ตามท้องถนนทั่วไปและได้ปริมาณเยอะมาก ไม่เน้นสารอาหารสักเท่าไหร่นัก
บางคนที่มาจากชนชั้นสูงอย่างพวกแชโบลก็ยังไม่เคยกินอาหารสตรีทฟู้ดแบบนี้ด้วยซ้ำไป
มีกรณีหนึ่งที่คู่แต่งงานสองคนมีพื้นเพที่ต่างกันอย่างสุดขั้ว ผู้หญิงคือ อีบูจิน ลูกสาวเครือซัมซองที่ร่ำรวยเสียดฟ้า แต่งงานกับอิมอูแจ สามีที่เกิดในครอบครัวชนชั้นแรงงาน เคยทำงานเป็นบอดี้การ์ดของพ่อและอีบูจินมาก่อนที่จะแต่งงานด้วย ทั้งสองได้หย่าร้างกันไปแล้วในตอนนี้
มีข่าวลือหนาหูออกมาว่า อีบูจีนรับไม่ได้ที่สามีของเธอชอบทานซุนแดกุก(ซุปไส้กรอกเลือด)และลูกของทั้งคู่ไม่เคยได้รับอนุญาตให้ทานต็อกปกกีหรือรามยอน จนกระทั่งพ่อแม่หย่าถึงได้ลองกินดูเพราะแม่มองว่า เป็นอาหารที่ไร้ประโยชน์และไม่สมฐานะ
นอกจากนี้ในสมัยก่อน ไม่ใช่แค่ที่เกาหลี ยังมีการศึกษาเรื่องชนชั้นและการบริโภคอาหารซึ่งสามารถแบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่ ๆ ได้ระหว่าง กลุ่มที่บริโภคเนื้อและกลุ่มที่บริโภคปลา
กลุ่มที่บริโภคเนื้อ - ชนชั้นแรงงาน
อันนี้พูดรวม ๆ ไม่ได้หมายถึงแค่ในเกาหลีนะคะ หลายคนอาจจะบอกว่า เนื้อฮันอูหรือเนื้อเกาหลีก็มีราคาแพงนะ ทำไมถึงมองว่าเป็นชนชั้นแรงงาน? เราขอพูดถึงภาพรวมของเรื่องชนชั้นตามที่ได้เรียนมาจากวิชา Korean Wave ที่อาจารย์ได้เลคเชอร์ให้ฟังกันค่ะ
เนื่องจากในสมัยก่อน คนที่มีรายได้น้อยทานอาหารเพื่อดับความหิว ดังนั้น อาหารที่ต้องการกินคืออาหารที่กินปุ๊บ หายหิวปั๊บ เน้นปริมาณ เนื้อสัตว์จึงเป็นการตอบโจทย์ที่ดีที่สุด เพราะเนื้อปลาใช้เวลานานในการทาน กว่าจะแกะก้างอะไรอีก
กลุ่มที่บริโภคเนื้อปลา - ชนชั้นสูง
คนในชนชั้นนี้นิยมทานเนื้อปลาเพราะมีวิธีการทานที่ละเอียดอ่อนกว่า ถือเป็นการแบ่งแยกชนชั้นที่เหนือกว่าได้อย่างชัดเจน มีคำพูดที่ชนชั้นสูงกล่าวว่า ชนชั้นล่างยังไม่มีพัฒนาการในการลิ้มรสของปลา ทำให้พวกเขาเหล่านั้นไม่สามารถรับรสที่แสนอร่อยของปลาได้ (เอ๊า เหยียดกันไปอีก ) ส่วนวิธีการทานของชนชั้นสูงนั้น จะค่อยๆ ทานอย่างละเมียดละไมและทานชิ้นเล็กที่สุดเท่าที่จะทานได้ เพื่อค่อยๆ ลิ้มรสชาติของปลาได้นานๆ นั่นเองค่ะ
พัฒนาการของตัวละครในเรื่อง
หลังจากที่เข้าใจเรื่องชนชั้นและอาหารกันแล้ว มาต่อกันที่ซีรีส์เกาหลีเลยดีกว่าค่ะว่า อาหารนั้นมีความสำคัญกับการพัฒนาตัวละครอย่างไรได้บ้าง
อย่างในเรื่อง Boys Over Flowers หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อ F4 เกาหลี พระเอกอย่างกูจุนพโยนั้นเกิดในครอบครัวที่รวยล้นฟ้า ดังนั้นพวกอาหารสตรีทฟู้ดหรือรามยอนนี่ไม่เคยแตะมาก่อนเลย
ในขณะที่นางเอกนั้นเกิดมาในครอบครัวที่ยากจน สู้ชีวิตสุด ๆ พระเอกผู้อยากเข้าหานางเอกจึงไปหานางเอกที่บ้านและเจอครอบครัว จากนั้นก็ได้ลองทานรามอยนเป็นครั้งแรกในชีวิตซึ่งการทานรามยอนของพระเอก ถือเป็นพัฒนาการของตัวละครที่สื่อถึงการตกหลุมรักนางเอกและเข้ามาพัวพันในอีกชนชั้นหนึ่งที่เขาไม่เคยสัมผัสมาก่อนนั่นเองค่ะ
อัตลักษณ์และตัวตนทางวัฒนธรรมของเกาหลี
หลายคน(ที่เกิดทัน)คงเคยดูซีรีส์เรื่องแรก ๆ ของเกาหลีอย่างแดจังกึมที่ถือเป็น Korean wave รุ่นแรกๆ ที่ทำให้กระแสของเกาหลีบูมในไทยเลยก็ว่าได้ ในเรื่องมีการบอกเล่าถึงประวัติศาสตร์ของเกาหลีผ่านการทำอาหารในวังที่ดูน่าทานสุดๆ บอกตรงๆ ว่าตอนนั้นเราอยากกินม๊ากมาก แต่ร้านอาหารเกาหลีในไทยยังไม่เยอะขนาดนั้นค่ะ อดไป
อีกเรื่องที่ทำให้อาหารเกาหลีบูมแบบสุด ๆ คือเรื่อง My Love from the Star หรือที่รู้จักกันดีในชื่อพระเอกสุดหล่อโทมินจุน (ชื่อตัวละครของคิมซูฮยอน) เชื่อว่าช่วงนั้นหลายคนคงอยากมีแฟนเป็นมนุษย์ต่างดาวกันเลยทีเดียว
ที่เด็ดกว่าการอยากมีแฟนเป็นเอเลี่ยน คือการได้กินชีแม็กหรือไก่กับเบียร์ จนช่วงนั้นคนต่อแถวยาวเฟื้อยรอกินไก่เกาหลีจากร้านดังเลยทีเดียว ซึ่งอาหารในเรื่องมีความแตกต่างจากเรื่องแดจังกึมตรงที่ เป็นอาหารแบบบ้าน ๆ ที่เข้าถึงได้ง่าย แต่เอฟเฟคส์ไม่เบาเลย เพราะช่วงนั้นประเทศที่เอาเรื่องนี้ไปฉายหรือคอซีรีส์แห่ไปกินไก่กับเบียร์จนยอดขายพุ่งพรวดไปตาม ๆ กัน
การมีส่วนร่วมของแฟน ๆ เกาหลีในการทานอาหาร
นอกจากนี้ การทานอาหารในซีรีส์ยังปลุกเร้าความต้องการในการทานอาหารตามของแฟนๆ อีกด้วย นอกจากจะด้วยเหตุผลที่ดูแล้วหิว ยังมีเหตุผลในการสร้างประสบการณ์ในการลิ้มรสชาติอาหารตามดาราที่ชอบอีกด้วย
การได้ทานอาหารแบบเดียวกับที่เซเลบที่ชอบทาน ทำให้แฟน ๆ รู้สึกมีส่วนร่วมในการดูซีรีส์มากขึ้น เช่น เวลาที่เห็นไอยูทานมันดู (เกี๊ยวเกาหลี) หรือจอนจีฮยอนทานชีแม็ก เราก็จะอินในรสชาติไปด้วยเพราะเคยลองชิมมาก่อนหน้านี้แล้ว (familiarity)
ช่วงก่อนหน้านี้ ที่ไทยเรามีกระแสการทำซุนดูบูจีเกในช่วงล็อคดาวน์ที่หน้าไทม์ไลน์ของทุกคนจะเต็มไปด้วยสูตรที่หลากหลายมากมาย บางสูตรผิดบ้าง ถูกบ้างก็ว่ากันไป
จริง ๆ แล้วการทำอาหารเกาหลีกินเองที่บ้านถือเป็นอีก 1 วิธีในการสัมผัสประสบการณ์เกี่ยวกับอาหารเกาหลีเช่นกัน ถึงแม้สูตรจะผิดเพี้ยนไปบ้าง แต่ไม่มีความตายตัวและความคิดเรื่องต้นตำรับมากำหนด
ด้วยความที่หลาย ๆ คนพร้อมใจกันทำซุนดูบูจีเก ซอสโคชูจังจึงหมดเกลี้ยงซุปเปอร์มาร์เก็ตไปชั่วขณะ แสดงให้เห็นถึงพลังของ K-drama ในไทยที่สูงมากและการประสบความสำเร็จในการเผยแพร่วัฒนธรรมการกินของเกาหลีผ่านซีรีส์
ก่อนที่จะมาเป็นฉากกินอย่างที่เห็นในปัจจุบันนี้ สมัยก่อนในช่วงยุคต้นปี 2000 ฉากที่ขาดไม่ได้ในซีรีส์เกาหลีเลยก็คือ ฉากไปโนแรบัง (คาราโอเกะ)ค่ะ แต่หลัง ๆ จึงกลายมาเป็นฉากกินอาหารแทน เพราะเข้าถึงได้ทุกคน ใครๆ ก็ต้องกินข้าวกันทั้งนั้น จริงมั้ยคะ?
จริง ๆ แล้วเรื่องอาหารไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ เลยนะคะเนี่ย ตอนเราฟังในคาบครั้งแรกคือตื่นเต้นมาก ๆ น่าสนใจสุด ๆ เพราะเราเองก็เป็นหนึ่งในคนที่ตามรอยกินเหมือนกันค่ะ 555
ไว้คราวหน้าจะมาเล่าเรื่องให้ฟังใหม่นะคะ บ๊ายบาย~
🤞🏻Subscribe พวกเรา Creatrip บน Youtube
✨Creatrip Instagram
instagram.com/creatrip.thailand
🎈ช้อปปิ้ง|สั่งซื้อสินค้าเกาหลี
โพสต์ที่น่าสนใจ |
5 อาหารเกาหลีที่เผ็ดระดับพริก 10 เม็ด |
อาหารเกาหลีคลายร้อนในซัมเมอร์ |
ตามรอย Itaewon Class |