'หนุ่มดอกไม้ (Flower Boy)' แค่เทรนด์ในเกาหลีหรือพื้นที่ของชาวสีรุ้ง?
หน้าหวาน ดูบอบบาง น่าปกป้อง - เทรนด์ไอดอลและเซเลบชายของเกาหลีที่มีอะไรมากกว่าแค่เรื่องความสวยความงาม
สวัสดีค่ะทุกคน! พวกเรา Creatrip ศูนย์รวบรวมข้อมูลการท่องเที่ยวที่อัพเดทโดยคนเกาหลีในทุก ๆ วัน
#เทรนด์เกาหลี #วัฒนธรรมเกาหลี
#หนุ่มดอกไม้ #K-pop #ซีรีส์เกาหลี
#ความสวยความงาม #LGBTQ
สำหรับแฟน ๆ K-pop หรือซีรีส์หลายคน การเห็นผู้ชายหน้าหวาน ๆ ดูบอบบางมาเป็นไอดอลหรือพระเอกน่าจะชินกันบ้างแล้วใช่มั้ยคะ? ถึงสมัยก่อนเซเลบชายของฝั่งไทยจะเน้นแบบคมเข้มก็เถอะ แต่ด้วยกระแสเกาหลีทำให้เดี๋ยวนี้คนเริ่มชินหน้าหวาน ๆ ของเซเลบฝั่งเกาหลีกันบ้างแล้ว แต่จริง ๆ สไตล์ของการมีใบหน้าหวาน ๆ แต่ยังมีความแมน ๆ ในตัวนั้นไม่ได้เป็นแค่เทรนด์วูบวาบที่มา ๆ หาย ๆ ของเกาหลี แต่ยังมีอะไรมากกว่านั้นให้น่าศึกษาต่อด้วยล่ะค่ะ ไปดูกันเลย~
🤞🏻 ติดตามพวกเรา Creatrip บน Youtube
instagram.com/creatrip.thailand
🎈ช้อปปิ้ง|สั่งซื้อสินค้าเกาหลี
อัตลักษณ์ของ 'หนุ่มดอกไม้' ในวงการเกาหลี
'꽃미남' - '꽃' ดอกไม้ '미남' ผู้ชายที่หน้าตาดี ดังนั้น คำว่า '꽃미남' จึงแปลตรงตัวได้เลยว่า ผู้ชายที่หล่อหน้าตาดีดังเช่นดอกได้หรือ 'หนุ่มดอกไม้' อย่างที่เรารู้จักกันดีนั่นเอง~
แต่จากงานวิจัย มีเรื่องที่น่าสนใจอยู่อย่างหนึ่งค่ะ ปกติเราจะมองหนุ่มดอกไม้ว่าเป็นผู้ชายที่ดูอ้อนแอ้น บอบบาง บางทีก็ดูเหมือนผู้หญิงยิ่งกว่าเราซะอีก แต่ในสังคมเกาหลีช่วงหนึ่งมองว่า หนุ่มดอกไม้เนี่ย ดูเหมือนแบดบอยเลยนะ (หื้ม ยังไง?)
หนึ่งในไอดอลที่แสดงถึงความเป็นหนุ่มดอกไม้มากที่สุด คงจะหนีไม่พ้น 'อัจฉริยะทางด้านหน้าตา' หรือหนุ่มชาอึนอู จากวง Astro นั่นเองค่ะ จริง ๆ แล้วลักษณะความเป็นชายของสังคมในเกาหลีจะแบ่งคร่าว ๆ ได้เป็นสองส่วนคือ ความแมนแบบแม๊นแมนที่ดูแข็งแกร่ง จับดาบออกรบ กับอีกแบบคือ สาย soft masculinity ที่ได้รับอิทธิพลมาจากความเชื่อของลัทธิขงจื๊อที่เรียกกันว่า 'ซอนบี' ซึ่งจริง ๆ แล้วซอนบีถือเป็นความดั้งเดิมของความเป็นชายในเกาหลีที่เน้นความดูเป็นผู้ดีและดูมีการศึกษา ไม่เน้นเรื่องงานบ้านหรือการใช้แรงงาน
เทรนด์ '꽃미남' ในสังคมเกาหลี
คนเกาหลีที่เกิดในช่วงกระแสฮัลรยูบูมขึ้นมาจะคุ้นหน้าคุ้นตากับสไตล์ของหนุ่มดอกไม้เป็นอย่างดี จากการทำแบบสำรวจพบว่า คนอายุช่วงประมาณ 30 และวัยรุ่น รวมถึงชายและหญิงต่างชื่นชอบสไตล์แบบหนุ่มดอกไม้กันทั้งนั้น แต่ส่วนใหญ่ผู้ชายเกาหลีที่แต่งตัวหรือใช้ชีวิตตามเทรนด์ Flower Boy จะอยู่แค่ในช่วงวัยรุ่นถึงอายุ 25 ปี หลังจากนั้นจะเปลี่ยนไปยึดโยงกับความเป็นชายแบบอื่นแทน เช่น แบบ smart-casual ที่ปรับให้เหมาะกับชีวิตการทำงานในออฟฟิศมากกว่า
นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่น่าสนใจเกี่ยวกับหนุ่มดอกไม้ถึงปฏิกิริยาของผู้ชายทั่วไปต่อ '꽃미남' อีกด้วยล่ะค่ะ เพราะนอกจากผู้หญิงจะรู้สึกถูกดึงดูดด้วยผู้ชายสไตล์นี้แล้ว ผู้ชายเกาหลีเองก็ยังรู้สึกแบบเดียวกันอีกด้วย! จากแบบสำรวจมีคนให้ความเห็นว่า พวกเขารู้สึกว่าหนุ่มดอกไม้ดูงดงามและบอบบาง เห็นแล้วอยากจะปกป้องขึ้นมายังไงยังงั้น แม้แต่ผู้หญิงที่ออกเดทกับหนุ่มดอกไม้เองก็รู้สึกว่า พวกเธอรู้สึกว่าต้องเป็นคนที่ปกป้องแฟนตัวเองเพราะเขาดูเป็นผู้ชายที่บอบบาง น่าทะนุถนอม งานวิจัยจึงสรุปในข้อนี้ไว้ว่า คนรอบตัวที่รู้สึกดึงดูดเข้าหาความ soft masculinity นี้เป็นเพราะหนุ่มดอกไม้มีลักษณะบางอย่างของผู้หญิงอยู่ในตัวด้วยนั่นเอง
อีกทางเลือกของสไตล์ผู้ชายนุ่มนวล '훈남'
นอกเหนือจากภาพลักษณ์หนุ่มดอกไม้ อ่อนโยน บอบบางแล้ว ยังมีอีกหนึ่งเทรนด์ที่ดูเหมือนจะแซง '꽃미남' ไปได้อีก นั่นก็คือ '훈남' นั่นเองค่ะ แปลตรงตัวได้ว่า สุภาพบุรุษที่ดูอบอุ่น ความแตกต่างอย่างชัดเจนที่นักวิจัยอย่าง Murell ได้ระบุเกี่ยวกับสองลักษณะนี้ไว้ก็คือ หนุ่มดอกไม้จะเน้นแค่ภาพลักษณ์ที่ดูดี แต่ไม่ได้รวมถึงนิสัยไปด้วย แปลว่า ถึงแม้ว่านิสัยจะกักขฬะ ถ่มน้ำลาย ถุย ๆ แต่ถ้าภาพลักษณ์ดูบอบบางอ่อนโยน ก็ยังจะถูกจัดให้เป็น '꽃미남' แต่สำหรับ '훈남' นั้น นิสัยต้องสอดคล้องไปกับภาพลักษณ์ที่อบอุ่น แถมยังหน้าตาดีอีกด้วย เรียกได้ว่า เป็นผู้ชายสุดเพอร์เฟคต์นั่นเอง ซึ่งตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดเลยก็คือ กงยู สมบัติแห่งชาติเกาหลีนั่นเองค่ะ ฮุนนัมที่ไม่มีใครมาล้มล้างได้
ฮัลรยู 'กระแสเกาหลี' กับภาพลักษณ์ของ '꽃미남'
จากอิทธิพลของกระแสเคป็อปและซีรีส์เกาหลี ทำให้ผู้ชายจำนวนมากหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ประทินผิวและดูแลตัวเองกันมากขึ้น นอกจากนี้ จากสถิติของ GlobalData ระบุว่า 3 ใน 4 ของผู้ชายเกาหลียังใช้เวลาดูแลตัวเองมากขึ้น เช่น ไปร้านทำผมหรือดูแลตัวเองที่บ้านสัปดาห์ละครั้งซึ่งเป็นผลลัพธ์มาจากการเสพสื่อจากวงการเกาหลี
นอกจากนี้ ผู้ชายในเกาหลียังทำศัลยกรรมกันมากขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับความเป็น '꽃미남' ซึ่งจริงๆ แล้วการศัลยกรรมเพื่อความงามในเกาหลีไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด แต่การศัลยกรรมเพื่อให้ได้อยู่ในมาตรฐานใกล้เคียงกับคนดังในกระแสเกาหลีนั้นถือว่าน่าสนใจไม่ใช่น้อย
แต่การที่คนนอกวงการนำภาพลักษณ์ของหนุ่มดอกไม้มาปรับใช้ในชีวิตจริงนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลย เพราะวัยรุ่นชายเกาหลีที่มีภาพลักษณ์ของ '꽃미남' มักจะโดนคำวิจารณ์อยู่ 3 อย่างด้วยกันคือ 1. หลงตัวเอง 2. พวกแอ๊บแบ๊ว และอย่างที่ 3 คือ แบดบอยที่จ้องแต่จะอ่อยสาว ๆ (ชีวิตลำบากอะไรขนาดนี้ )
ภาพลักษณ์ของหนุ่มดอกไม้: พื้นที่การแสดงออกทางตัวตนของกลุ่มชาวสีรุ้ง?
อย่างที่รู้กันดีว่า 'หนุ่มดอกไม้' มีลักษณะของความเป็นผู้หญิงผสมอยู่ด้วยทำให้สามารถดึงดูดความสนใจได้จากทั้งผู้ชายและผู้หญิง หรือว่านี่จะเป็นพื้นที่เสรีที่ให้ชาว LGBTQ+ ได้แสดงออกถึงตัวตนที่แท้จริง?
แต่ชีวิตจริงไม่ได้ง่ายขนาดนั้น...เนื่องจากเกาหลียังเชื่อว่า ไม่มีเกย์หรือเพศทางเลือกอยู่ในประเทศของเกาหลีทำให้บางทีเกย์ที่เลือกรูปแบบการแต่งตัวของหนุ่มดอกไม้ในการแสดงออกถึงตัวตนของพวกเขา ก็ยังไม่ได้ถูกยอมรับในเพศที่พวกเขาเลือก แต่ยอมรับแค่ในภาพลักษณ์ภายนอกเท่านั้น
นอกจากนี้ ถึงแม้จะมีคนเกาหลีออกมาพูดว่า การยอมรับใน '꽃미남' ก็หมายถึงการเข้าใกล้การยอมรับเพศทางเลือกเพิ่มขึ้น หรือเพื่อนที่ทำตามเทรนด์ '꽃미남' ส่วนใหญ่จริงๆ แล้วเป็นเกย์ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้การันตีการยอมรับเพศทางเลือกในสิ่งที่พวกเขาเป็น แต่ยิ่งกดพวกเขาให้อยู่ในกรอบเท่าที่สังคมยอมรับได้เท่านั้นเอง
บทความนี้เขียนขึ้นโดยอ้างอิงจากบทความของ Murell ที่พูดถึงเรื่องหนุ่มดอกไม้กับกระแสของเกาหลีค่ะ น่าสนใจมากๆ เลยใช่มั้ยล่ะคะ?
ไว้เจอกับใหม่บทความหน้า บ๊ายบายค่ะ~
🤞🏻 ติดตามพวกเรา Creatrip บน Youtube
โพสต์ที่น่าสนใจ |
ทำไมซีรีส์เกาหลีถึงมีแต่ฉากกิน กิน กินและกิน? |
แฟชั่นหน้าร้อนของเหล่าคนดังชายเกาหลี |
เกาหลี นรกบนดิน |