logo

เปรียบเทียบชีวิตในวัยเรียนของคนไทยและคนเกาหลีตั้งแต่มัธยมจนถึงมหาวิทยาลัย

หลายๆคนคงสนใจอยากจะมาเรียนที่เกาหลี มาดูกันว่าระหว่างการเรียนในไทยและในเกาหลีกัน!

DefaultProfileIcon
Chakriya Yuenyaw
a year ago

สวัสดีค่ะทุกคน! พวกเรา Creatrip ศูนย์รวบรวมข้อมูลการท่องเที่ยวเกาหลีที่อัพเดทโดยคนเกาหลีในทุก ๆ วัน


#วัฒนธรรมเกาหลี #เรียนที่เกาหลี

#โรงเรียนเกาหลี #มหาลัยเกาหลี #ชีวิตมหาลัยเกาหลี


ประเทศเกาหลีใต้เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ขึ้นชื่อด้านการศึกษา หลายๆคนคงเคยได้ยินมาว่าชีวิตในการเรียนของเกาหลีนั้นจริงจังและเข้มข้นมากๆ แต่อีกมุมนึงก็ยังมีอีกหลายๆเรื่องที่ยังไม่ค่อยมีใครรู้เกี่ยวกับการเรียนในเกาหลี 

วันนี้เราจะมาทำการเปรียบเทียบข้อแตกต่างและสิ่งที่เหมือนกันระหว่างการเรียนในเกาหลีและการเรียนในไทยทั้งในระดับมัธยมและในระดับมหาวิทยาลัย 

ใครที่กำลังลังเลว่าควรจะมาเรียนที่เกาหลีดีไหม ห้ามพลาดบทความนี้เลยค่ะ!

❣️ อัพเดทข้อมูลเกาหลีได้ที่

Instagram: instagram.com/creatrip.thailand

Facebook: facebook.com/creatrip.th

Twitter: @CreatripT

🛍 ช้อปปิ้ง|สั่งซื้อสินค้าเกาหลี


เปรียบเทียบชีวิตในวัยเรียนของคนไทยและคนเกาหลีตั้งแต่มัธยมจนถึงมหาวิทยาลัย


ชีวิตช่วงมัธยม

สิ่งที่แตกต่างกัน

1. หลักสูตรวิชาที่ไม่เหมือนกัน



ในช่วงชีวิตมัธยมเป็นช่วงเวลาของการค้นหาตัวเอง การได้ทดลองทำในสิ่งต่างๆ ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีของนักเรียนมัธยมทั้งในไทยและในเกาหลี

นอกเหนือจากวิชาบังคับที่ทุกคนต้องเรียนแล้ว ทุกโรงเรียนมักจะเพิ่มวิชาพิเศษๆ ขึ้นมาเพื่อส่งเสริมให้นักเรียนพัฒนาตัวเองในหลายๆด้าน ด้วยเหตุผลนี้ทำให้เราสังเกตได้ชัดเจนมากว่าการศึกษาของไทยและการศึกษาของเกาหลีนั้นมีความคิดที่ไม่เหมือนกัน

การศึกษาไทยมีวิชาในตำนานที่อยู่ในความทรงจำของใครหลายๆคนอย่าง เช่น วิชาลูกเสือ เนตรนารี ซึ่งเป็นวิชาที่เน้นการฝึกระเบียบวินัยและการเอาตัวรอดในสถานการณ์ต่างๆ ถึงแม้ว่าในบางครั้งอาจจะใช้ไม่ได้จริงแต่ก็ถือว่าเป็นสีสันในการศึกษาไทย

ในขณะที่การศึกษาเกาหลีส่งเสริมให้นักเรียนได้ลองทำสิ่งใหม่ๆ จึงมีวิชาที่ส่งเสริมทักษะให้แก่นักเรียนมากมายและเป็นเหมือนวิชาค้นหาสาขาที่ใช่ก่อนเข้ามหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นวิชา Programming, วิชาจิตวิทยา, วิชาสร้างหุ่นยนต์, วิชาออกแบบภายใน, หรือวิชากฎหมาย ที่นักเรียนสามารถเลือกลงเรียนได้ตามความสนใจ หากไม่ชอบวิชาไหนก็สามารถเปลี่ยนไปเรียนวิชาใหม่ได้ในเทอมต่อไป ถึงแม้ว่าตัววิชาจะยากกว่าวิชาอื่นๆ แต่นักเรียนมัธยมของเกาหลีก็มีโอกาสค้นหาตัวเองด้วยการลองเรียนวิชาที่สนใจ เพราะในบางครั้งสิ่งที่ชอบก็อาจจะไม่ใช่สำหรับนักเรียนก็ได้ 


2. กิจกรรมในช่วงเช้า



กิจกรรมในยามเช้าเป็นอีกเรื่องนึงที่เราสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนเพราะที่โรงเรียนในไทยมีการเข้าแถว การสวดมนต์ การเคารพธงชาติและยืนตากแดดฟังประกาศของโรงเรียนในแต่ละวัน แถมยังมีการเช็คชื่อในแถวตอนเช้าอีกด้วย

ในขณะที่เกาหลีนั้น ไม่มีการเข้าแถวตอนเช้า ไม่มีการสวดมนต์ ร้องเพลงชาติเหมือนที่ไทยแต่ที่เกาหลีจะมีคาบ Hoomroom ทุกเช้า ซึ่งคุณครูประจำชั้นจะเป็นผู้ทำหน้าที่เช็คชื่อและแจ้งข่าวสารในแต่ละวัน นักเรียนที่เกาหลีสามารถใช้ชีวิตในเวลา Homeroom ในการเตรียมตัวเองให้พร้อมก่อนคาบต่อไป ระยะเวลาของคาบ Homeroom จะอยู่ที่ประมาณ 20 นาทีเท่านั้น หากนักเรียนคนไหนมาสายในคาบ Homeroom คุณครูประจำชั้นก็จะมีบทลงโทษแตกต่างกันออกไป อย่างที่ทุกคนเห็นในซีรี่ย์ที่มักจะมีฉากที่นางเอกและพระเอกวิ่งเข้าโรงเรียนตอนเช้า นั่นคือการวิ่งไปที่ห้อง Homeroom เพื่อเช็คชื่อ ในกรณีที่วิ่งไม่ทันก็จะโดนทำโทษอยู่หน้าโรงเรียนจนกว่าคาบ Homeroom จะหมด


3. Gap year หรือ การพักหลังจากจบระดับมัธยมปลาย โดยไม่ต่อระดับมหาวิทยาลัยทันที



Gap year เป็นอีกเรื่องที่ไม่เหมือนกันค่ะ โดยปกติแล้วที่ไทยจะไม่นิยมให้มี Gap year หลังจากจบมัธยมปลาย ทุกคนต้องเข้ามหาวิทยาลัยโดยทันที เด็กไทยมักจะเครียดมากหากไม่มีที่เรียนเหมือนเพื่อนๆ ในช่วงเรียนม.6 หรือ Grade 12

แต่สำหรับคนเกาหลีแล้ว มีความเชื่อว่าไม่จำเป็นต้องเข้ามหาวิทยาลัยทันที บางคนก็อยากพักเพื่อค้นหาตัวเองหรือเรียนในสิ่งต่างๆที่ตัวเองสนใจที่ไม่สามารถหาเรียนได้ในมหาวิทยาลัยอย่างเช่นการเต้น การร้องเพลง การเป็นนายแบบนางแบบที่มักจะเริ่มต้นจากช่วงจบมัธยมปลายหรือการลงสนามจริงเองเลยนี่แหละค่ะ ชีวิตหลังจากจบมัธยมปลายของคนเกาหลีถือว่าเป็นช่วงที่สำคัญมากๆ ในการเลือกเส้นทางของตัวเอง


สิ่งที่เหมือนกัน

1. ชุดยูนิฟอร์มนักเรียน



ทั้งนักเรียนไทยและเกาหลีมีการใส่ชุดยูนิฟอร์ทนักเรียนจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 เหมือนกันค่ะ โดยคนเกาหลีมีชุดนักเรียนในแต่ละฤดูกาลที่จะปรับเปลี่ยนให้ชุดนั้นสามารถใส่ได้ตามสภาพอากาศต่างๆ ค่ะ เพื่อนๆ อาจจะเคยเห็นชุดนักเรียนในซีรี่ย์เกาหลีกันใช่ไหมคะ สำหรับเรา เราคิดว่าชุดนักเรียนเกาหลีนั้นสวยมากๆ น่าใส่ไปถ่ายรูปสุดๆ หากใครมาเกาหลีและอยากลองใส่ชุดนักเรียนสักครั้ง เราขอแนะนำบริการเช่าชุดนักเรียนในราคาสุดคุ้มของ Ewha School Uniform เลยค่ะ ที่นี่มีชุดนักเรียนให้เลือกมากมายทั้งของผู้ชายและผู้หญิงเลย 



หากใครสนใจสามารถอ่านเพิ่มเติมสำหรับการเช่าชุดที่ Ewha School Uniform ได้ ที่นี่ นะคะ   


2. วันครู หรือ วันไหว้ครู



เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจเหมือนกันค่ะที่ทั้งโรงเรียนในไทยและโรงเรียนในเกาหลีมีวันครูเหมือนกันเลย! โดยวันครูของเกาหลีจะตรงกับวันที่ 15 พฤษภาคมของทุกๆ ปี ซึ่งจะเป็นวันที่เด็กๆ จะเตรียมเซอร์ไพส์เล็กๆ ให้คุณครูประจำชั้นค่ะ อาจจะเป็นการเขียนโน็ตหรือจดหมายเล็กๆ หรือเตรียมเค้กมาให้คุณครูในคาบ Homeroom ถึงแม้ว่าเด็กนักเรียนเกาหลีจะยุ่งแค่ไหนแต่วันครูก็เป็นวันสำคัญที่เด็กๆ ไม่เคยลืมค่ะ เพราะวันนั้นจะเป็นวันที่เป็นเหมือนการขอบคุณคุณครูที่คอยสั่งสอนพวกเขาทั้งในด้านการเรียนและการใช้ชีวิตค่ะ



ชีวิตช่วงมหาวิทยาลัย

สิ่งที่แตกต่างกัน

1. ช่วงเวลาในการเข้าเรียนมหาวิทยาลัย



ช่วงเวลาในการเข้าเรียนมหาวิทยาลัยของไทยและเกาหลีไม่เหมือนกันค่ะ ที่ไทยตามระบบแล้วเด็กปี 1 จะต้องเริ่มเรียนในเทอมที่ 1 เท่านั้นซึ่งจะอยู่ในช่วงมิถุนายน - สิงหาคมของทุกปีแล้วแต่มหาวิทยาลัย แต่สำหรับที่เกาหลีนั้นสามารถเข้าเรียนได้ถึง 2 เทอม ซึ่งก็คือเทอมฤดูใบไม้ผลิ (เดือนมิถุนายน) หรือเทอมฤดูใบไม้ร่วง (เดือนกันยายน) และเพราะการที่มีนักศึกษาเข้าใหม่ทั้ง 2 เทอมทำให้พิธีการจบ 2 รอบเลยล่ะค่ะ โดยคนที่จบเทอมฤดูใบไม้ผลิ สามารถรับปริญญาได้ในเดือนกรกฎาคมปีนั้น ส่วนคนที่จบเทอมฤดูใบไม้ร่วง ก็จะต้องรอรับเดือนกุมภาพันธ์ในปีถัดไปนั้นเองค่ะ


2. การดรอปเรียน


ความคิดเกี่ยวกับการดรอปของนักศึกษาไทยและนักศึกษาเกาหลีค่อนข้างที่จะต่างกันสิ้นเชิงเลยค่ะ ที่ไทยนั้นจะไม่นิยมดรอปเรียนเพราะมองว่าเป็นการเสียเวลาและไม่เก็นประโยชน์จากการดรอปเรียนมากซักเท่าไหร่ แต่สำหรับคนเกาหลีแล้วการเรียนมหาวิทยาลัยแบบ 4 ปีจบเป็นเรื่องที่ไม่แปลกแต่หากจบหลังจาก 4 ปีก็ไม่มองว่าเป็นเรื่องแปลกเช่นกันค่ะ

คนเกาหลีมีความความคิดว่าการดรอปเรียนคือการไปลองใช้ชีวิตตามหาสิ่งที่ตัวเองชอบ, พักผ่อน, ทำศัลยกรรม, ทำงาน, ไปต่างประเทศและอื่นๆ เพราะคนเกาหลีมีความคิดที่ว่าช่วงมหาวิทยาลัยเป็นช่วงเวลาสุดท้ายที่สามารถใช้ชีวิตในแบบที่ตัวเองต้องการได้ก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงวัยทำงาน อย่างที่หลายๆคน ทราบกันว่าการทำงานในเกาหลีนั้นค่อนข้างหนักทำให้นักศึกษาเกาหลีหลายๆคนเลือกที่จะเรียนๆ ดรอปๆ จนกว่าจะพอใจค่ะ (มหาวิทยาลัยในเกาหลีนั้นไม่มีข้อจำกันครั้งในการดรอป แต่ว่านักศึกษาจะต้องจบการศึกษาภายใน 8 ปีนับจากวันที่เข้าเรียนค่ะ) โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับนักศึกษาชายเกาหลีกับกฎที่ว่าชายเกาหลีทุกคนต้องเข้ากรมประจวบเหมาะกับที่ช่วงอายุนั้นที่ควรเข้ากรมดันเป็นช่วงที่อยู่มหาวิทยาลัย นักศึกษาชายเกาหลีหลายๆ คนเลยมักจะดรอบเปรียนหลังจบปี 1 หรือ ปี 2 แล้วนั้นเอง จึงไม่แปลกที่ในแต่ละปีนักศึกษาชายในรุ่นที่จบจะอายุเยอะกว่านักศึกษาหญิงล่ะค่ะ


3. การสอบเข้ามหาวิทยาลัย



การสอบเข้ามหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นประเทศไหนก็มีความกดดันสูงใช่ไหมคะ โชคดีที่มหาวิทยาลัยในไทยเปิดรับนักศึกษาในหลายๆ รูปแบบไม่ว่าจะเป็น ทุนการศึกษา, การสอบตรง, การสอบเฉพาะทาง, และการสอบ GAT-PAT นั้นเองค่ะ
ในทางกลับกัน ที่เกาหลีนั้นจะมีการสอบเข้ามหาวิทยาลัยเพียง 1 ครั้งเท่านั้นและเป็นการสอบที่เด็กม.6 จะต้องมาสอบพร้อมกันอย่าง "การสอบซูนึง" นั้นเองค่ะ เป็นการสอบที่ยิ่งใหญ่ถึงขั้นที่บริษัทต่างๆ ต้องเปลี่ยนเวลาการเข้างานเพื่อไม่ให้จราจรติดขัดในวันสอบและการอำนวยความสะดวกจากทางเจ้าหน้าที่ต่างๆ เพื่อให้การเดินทางราบรื่นและการงดเที่ยวบินเข้า-ออกนองประเทศในช่วงเวลานั้นสำหรับโรงดรียนที่อยู่ใกล้สนามบิน เนื่องจากเป็นการสอบที่จัดขึ้นเพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้น และความน่ากลัวและการวัดชะตาเพียงครั้งเดียวคนเกาหลีหลายๆคนตัดสินใจไม่เข้ามหาวิทยาลัยทันทีแต่เลือกที่จะอ่านหนังสือเตรียมตัวเพื่อสอบในปีต่อไปค่ะ


สิ่งที่เหมือนกัน

1. งาน open house และกีฬาระหว่างมหาวิทยาลัย


ที่มา: News KBS

สำหรับสิ่งที่มีเหมือนกันของมหาวิทยาลัยเกาหลีและไทยก็คือการมีงาน open house ให้นักเรียนมัธยมได้เข้ามารู้จักกับมหาวิทยาลัยและคณะต่างๆมากขึ้น 

นอกจากนี้ยังมีงานกีฬาระหว่างมหาวิทยาลัยเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยอีกด้วย เช่น งานบอลจุฬาและธรรมศาสตร์และงานกีฬาของมหาวิทยาลัยยอนเซและมหาวิทยาลัยโคเรียที่จัดขึ้นทุกปีจนเป็นประเพณีของมหาวิทยาลัยและกระชับมิตรระหว่าง 2 มหาวิทยาลัยคู่แข่งระดับท็อปของประเทศ


2. ความนับถือแบบรุ่นพี่และรุ่นน้องในมหาวิทยาลัย



นี่เป็นอีกเรื่องที่เราคิดว่าเหมือนกันมากๆ ก็คือความนับถือรุ่นพี่ของรุ่นน้องในมหาวิทยาลัยทั้งในไทยและเกาหลี ไม่ว่าจะเป็นรุ่นพี่ในสาขาหรือรุ่นพี่ที่ทำหน้าที่สำคัญต่างๆ ในมหาวิทยาลัยก็จะได้รับความเคารพจากรุ่นน้องกันทั้งนั้น สำหรับที่เกาหลีเรื่องอายุถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ การเคารพซึ่งกันและกันอาจจะไม่ได้รุนแรงออกแนวโซตัสแต่จะเป็นในเชิงที่ว่ารุ่นพี่จะเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่รุ่นน้อง รุ่นพี่จะเป็นคนที่คอยให้คำปรึกษารุ่นน้องในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้ชีวิตหรือเรื่องการเรียนการทำงาน มีหลายๆคนบอกเราว่า ช่วงที่ดีที่สุดของมหาวิทยาลัยคือช่วงปี 1 เพราะจะเป็นช่วงที่รุ่นพี่ชอบเลี้ยงข้าวมากที่สุด ที่เกาหลีไม่มีสายรหัสเหมือนที่ไทย

ดังนั้นถ้ามีโอกาสได้ไปกินข้าวหรือเที่ยวเล่นกับรุ่นพี่ ส่วนมากรุ่นพี่จะเป็นคนจ่ายให้รุ่นน้องค่ะ แต่ถ้าเราเป็นรุ่นพี่ เราเองก็จะต้องเป็นแบบอย่างให้รุ่นน้องเคารพเหมือนกันค่ะ ถือว่าเป็นเรื่องที่แอบกดดันไม่น้อยเลย 


และนี่ก็เป็นการเปรียบเทียบข้อแตกต่างและข้อที่เหมือนกันของการเรียนในไทยและเกาหลีนะคะ เราหวังว่านี่จะเป็นประโยชน์ต่อทุกๆคนที่สนใจอยากจะมาเรียนที่เกาหลีนะคะ   


ถ้าหากมีข้อสงสัยเพิ่มเติม สามารถติดต่อเราได้เลยที่ help@creatrip.com  


❣️ อัพเดทข้อมูลเกาหลีได้ที่

Instagram: instagram.com/creatrip.thailand

Facebook: facebook.com/creatrip.th

Twitter: @CreatripT

🛍 ช้อปปิ้ง|สั่งซื้อสินค้าเกาหลี

ยอดเข้าชมมากที่สุด

LoadingIcon
ยอดเข้าชมมากที่สุด