วัฒนธรรมการระบำหน้ากาก “ทัลชุม” ของเกาหลี
ระบำหน้ากาก “ทัลชุม” เกี่ยวกับการแสดงความรู้สึกของคนเกาหลีในสมัยโบราณอย่างไรกันนะ?
สวัสดีค่ะทุกคน! พวกเรา Creatrip ศูนย์รวบรวมข้อมูลการท่องเที่ยวเกาหลีที่อัพเดทโดยคนเกาหลีในทุก ๆ วัน
#ระบำหน้ากากทัลชุม
#วัฒนธรรมเกาหลี #เอกลักษณ์
วันนี้เราจะพาทุกคนไปรู้จักกับวัฒนธรรมการระบำหน้ากาก “ทัลชุม (탈춤)” ที่มีเอกลักษณ์และน่าดึงดูดใจของเกาหลีกันค่ะ! มาหาคำตอบกันดีกว่าว่าระบำหน้ากากทัลชุมจะเกี่ยวกับการแสดงความรู้สึกของคนเกาหลีในสมัยโบราณอย่างไรกันนะ?
🤞🏻Subscribe พวกเรา Creatrip บน Youtube
✨Creatrip Instagram
instagram.com/creatrip.thailand
🎈ช้อปปิ้ง|สั่งซื้อสินค้าเกาหลี
วัฒนธรรมการระบำหน้ากาก “ทัลชุม”
ระบำหน้ากาก “ทัลชุม” คืออะไร?
ที่มา: blog.jinbo.net
ในภาษาเกาหลี "ทัลชุม (탈춤)" มาจากการรวมกันของคำว่า 'ทัล (탈)' ซึ่งหมายถึงการสวมหน้ากาก และ 'ชุม (춤)' ซึ่งหมายถึงการเต้นรำ ดังนั้น 'ทัลชุม' จึงเป็นศิลปะการใส่หน้ากากในขณะที่เต้นรำรูปแบบหนึ่ง หรือเรียกสั้น ๆ ว่า "การระบำหน้ากาก" นั่นเองค่ะ
ศิลปะการระบำหน้ากากมีขึ้นตั้งแต่ในสมัยสามอาณาจักร จากนั้นก็เริ่มแพร่หลายและพัฒนาไปจนถึงจุดสูงสุดในสมัยโชซอนค่ะ ในปัจจุบันถือเป็นวัฒนธรรมพื้นบ้านที่มีมาช้านานและมีการแสดงในหลายพื้นที่ทั่วประเทศเกาหลีเลยทีเดียวค่ะ
วิวัฒนาการของระบำหน้ากาก “ทัลชุม”
การระบำหน้ากากทัลชุมเป็นศิลปะพื้นบ้านที่ให้ความบันเทิงรูปแบบหนึ่ง มักจะแสดงในช่วงเทศกาลต่าง ๆ เช่น วันขึ้นปีใหม่, เทศกาลกลางฤดูใบไม้ร่วง, เทศกาลเรือมังกร, วันประสูติของพระพุทธเจ้า ฯลฯ
แต่เบื้องหลังเสียงหัวเราะเหล่านั้นกลับแฝงไปด้วยความคิดและแรงบันดาลใจมากมายที่คนเกาหลีในสมัยโบราณต้องการถ่ายทอดออกมาค่ะ
ที่มา: doopedia
ในช่วงสามอาณาจักร การระบำหน้ากากเป็นพิธีกรรมง่าย ๆ ที่ใช้ในการสื่อสารกับพระเจ้าค่ะ โดยเชื่อกันว่าหน้ากากจะสะท้อนภาพของเทพเจ้า ในขณะที่ผู้สวมหน้ากากจะช่วยถ่ายทอดความคิดของผู้คนไปยังเทพเจ้าได้ และในทางกลับกัน การระบำหน้ากากก็เป็นรูปแบบการสื่อสารที่สนุกสนานระหว่างทวยเทพและมนุษย์ด้วยเช่นกันค่ะ
ต่อมาในสมัยโชซอน การระบำหน้ากากทัลชุมก็ไม่ใช่พิธีกรรมเพื่อการสื่อสารกับพระเจ้าอีกต่อไปค่ะ โดยเปลี่ยนเป็นการสะท้อนความโกรธและความรู้สึกไม่ยุติธรรมของคนธรรมดาที่มีต่อขุนนางและชาวจีนในยุคศักดินาแทน
เวลาทำการแสดงระบำหน้ากากทัลชุม นักแสดงจะยืนตรงกลางและมีผู้คนมารวมตัวกันเพื่อชมและส่งเสียงเชียร์ค่ะ โดยนักแสดงจะซ่อนตัวตนเอาไว้หลังหน้ากาก จากนั้นก็สามารถแสดงเป็นตัวละครอะไรก็ได้ ซึ่งก็จะมีการพูดถึงเรื่องต่าง ๆ รวมถึงความคับข้องใจที่คนธรรมดาไม่กล้าพูดในเวลาปกตินั่นเองค่ะ
ประเด็นต่าง ๆ ที่กล่าวถึงก็มีหลากหลายเลยนะคะ เช่น การประณามความอ่อนแอของกษัตริย์, การวิพากษ์วิจารณ์ความชั่วร้ายในสังคม, การเสียดสีความหน้าซื่อใจคดของขุนนาง, การตั้งคำถามต่อพระสงฆ์ที่ฝ่าฝืนศีล ฯลฯ
ที่มา: News 1
ในช่วงทศวรรษ 1980 การระบำหน้ากากก็ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในเขตมหาวิทยาลัยของเกาหลี และในปัจจุบันก็ได้กลายมาเป็นการแสดงพื้นบ้านที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์และกลิ่นอายของวัฒนธรรมที่หาดูได้อย่างง่ายดายค่ะ
สำหรับใครที่อยากจะลองรับชมระบำหน้ากากทัลชุมสักครั้ง ก็สามารถไปที่ "Seoul Nori Madang (서울 놀이마당)" เพื่อสัมผัสประสบการณ์ระบำหน้ากากทัลชุมได้เลยนะคะ~
หน้ากากที่ใช้ในระบำหน้ากาก “ทัลชุม”
ที่มา: hahoe.invil.org
หน้ากากแต่ละชนิดจะมีลักษณะและวัสดุแตกต่างกันไปตามภูมิภาคค่ะ โดยหน้ากากที่เห็นได้บ่อยที่สุดก็คือ Hahoe Village Mask (하회) ซึ่งทำจากไม้ป็อปลาร์สีแดง มีลักษณะเฉพาะตรงที่ส่วนหน้าและคางจะแยกจากกัน เพื่อให้นักเต้นสามารถเคลื่อนไหวได้ง่ายขึ้นในระหว่างการแสดงนั่นเองค่ะ
หน้ากาก Hahoe Village Mask 12 ชิ้นที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของเกาหลี ได้แก่ 양반 (ยังบัน), 선비 (ซอนบี), 중 (จุง), 백정 (แบคจอง), 초랭이 (โชแรงอี), 할미 (ฮัลมี), 이매 (อีแม), 부네 (บูเน), 각시 (กักซี), 총각 (ชงกัก), 떡다리 (ต็อกดารี), และ 별채탈 (บยอลเชทัล)
แต่ในปัจจุบัน มีหน้ากาก 3 แบบที่หายสาบสูญไป ได้แก่ 총각 (ชงกัก), 떡다리 (ต็อกตารี), และ 별채탈 (บยอลเชทัล) ค่ะ
ที่มา: Naver
ส่วนลักษณะของหน้ากาก "โอกวังแด (오광대)" และ "ยายู (야유)" จะมีขนาดใหญ่, เรียบง่าย, ผิวหยาบ, และมีการแสดงออกทางอารมณ์ที่ชัดเจนกว่าค่ะ
นอกจากนี้ก็ยังมี "หน้ากากบงซาน (봉산)" ที่เป็นหน้ากากเกี่ยวกับขุนนาง รวมถึงตัวละครต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน และ "หน้ากากทงยอง (통영)" จะสร้างจากจินตนาการของผู้คนซึ่งโดยส่วนใหญ่จะใบหน้าของมาร ดังนั้นหน้ากากจึงมีความเย่อหยิ่งและดูเย้ยหยันเป็นอย่างมากเลยนั่นเองค่ะ
ตัวละครในระบำหน้ากาก “ทัลชุม”
ที่มา: Kyongbuk Ilbo
แม้ว่าตัวละครของการแสดงระบำหน้ากากทัลชุมจะแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค แต่โดยทั่วไปแล้วก็จะมีตัวละครที่ได้รับความนิยมอยู่ 2 ประเภท ได้แก่ ตัวเอกที่ขับเคลื่อนเหตุการณ์สำคัญในเรื่อง (주동인물) และตัวละครที่ขัดแย้งกับตัวละครหลักในเรื่อง (반동인물)
ตัวอย่างเช่น ตัวเอกคือขุนนาง และตัวละครที่ขัดแย้งกับตัวเอกคือสามัญชนทั่วไป ในการแสดงตัวละครสามัญชนจะโจมตีขุนนางด้วยคำพูดและท่าทางที่เป็นอิสระ รวมถึงมีความกระตือรือร้นและมีชีวิตชีวามาก ๆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดเสียงหัวเราะและเพิ่มผลกระทบจากการเสียดสีในเนื้อเรื่องให้น่าสนใจมากยิ่งขึ้นนั่นเองค่ะ
ตัวละครที่ขัดแย้งกับตัวละครหลักในเรื่องมักจะพูดความจริงที่ไม่น่าฟัง ซึ่งถือเป็นตัวแทนความคิดของผู้ชมค่ะ โดยจะมีการใช้ประโยคล้อเลียนและคำหยาบคายเพื่อประณามและวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาในสังคมด้วย
ท่าทางในการระบำหน้ากาก “ทัลชุม”
ที่มา: heritage.tv
การเต้นระบำที่สง่างามและดนตรีที่ไพเราะก็จะช่วยเพิ่มความน่าดึงดูดใจและมีส่วนช่วยในการถ่ายทอดความหมายให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นค่ะ โดยคำพูดของนักแสดงส่วนใหญ่จะเป็นการบรรยาย แต่จะสลับกับเนื้อร้องบ้างเพื่อความสนุกสนาน รวมถึงมีคำอุทานเพื่อความขบขันด้วยเช่นกันค่ะ
การระบำหน้ากากจะมีท่าทางที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งจะแสดงความหมายและอัตลักษณ์ของในแต่ละภูมิภาคนั่นเองค่ะ
ตัวอย่างเช่น ในภูมิภาค "ฮาโฮว (하회)" การระบำหน้ากากจะเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมทางศาสนาและการบูชาเทพเจ้าประจำหมู่บ้าน โดยการเต้นระบำแต่ละครั้ง จะจัดขึ้นด้วยความปรารถนาในความสงบและความสุขของชาวบ้าน ถือเป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์นั่นเองค่ะ
ในขณะที่สำหรับการเต้นรำหน้ากากในภูมิภาค "ยายู (야유)" และ "โอกวังแด (오광대)" นั้นจะไม่ได้พูดถึงความศักดิ์สิทธิ์และเทพเจ้าอีกต่อไป แต่เป็นเพียงการแสดงเพื่อความบันเทิงเพื่อวิจารณ์สังคมเท่านั้นค่ะ
เป็นยังไงกันบ้างคะกับวัฒนธรรมการระบำหน้ากาก “ทัลชุม” ที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ของเกาหลี? สำหรับใครที่อยากจะลองสัมผัสกับการแสดงพื้นบ้านแบบนี้ดูสักครั้ง ก็อย่าลืมแวะไปรับชมกันได้ในเกาหลีเลยนะคะ~
🤞🏻Subscribe พวกเรา Creatrip บน Youtube
✨Creatrip Instagram
instagram.com/creatrip.thailand
🎈ช้อปปิ้ง|สั่งซื้อสินค้าเกาหลี