การเจรจาปรับค่าแรงขั้นต่ำ
10,000 วอนต่อชั่วโมง! การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ทำให้การเจรจาปรับค่าแรงขั้นต่ำของเกาหลีใต้ไม่ง่ายเลย จะทำได้ตามที่ตั้งไว้หรือไม่...ต้องติดตาม
สวัสดีค่ะ Creatrip ศูนย์รวมข้อมูลการท่องเที่ยวเกาหลีที่อัพเดทโดยคนเกาหลีในทุกๆวัน
#ค่าแรงขั้นต่ำ #การเจรจา
#ทำงาน #เศรษฐกิจเกาหลี #ข่าวเกาหลี
เกาหลีใต้ถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นในทุกๆปี ตามความเหมาะสมและการตกลงระหว่างผู้ประกอบการรวมไปถึงภาครัฐ เพื่อช่วยเหลือกลุ่มลูกจ้าง โดยเฉพาะลูกจ้างรายวัน แต่การปรับค่าแรงขั้นต่ำนั้นก็ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจเป็นหลัก
ในปีนี้ถือว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ส่งผลกระทบอย่างมากต่อวงกว้าง รวมไปจนถึงเศรษฐกิจของประเทศ ฉะนั้นการปรับค่าแรงขั้นต่ำมีท่าทีที่ยากมากกว่าปีก่อนๆ เกาหลีใต้จะสามารถปรับค่าแรงตามที่คาดหวังไว้หรือไม่ ติดตามไปด้วยกันค่ะ
🤞🏻Subscribe พวกเรา Creatrip บน Youtube
✨Creatrip Instagram
instagram.com/creatrip.thailand
ค่าแรงขั้นต่ำของเกาหลี
การเจรจาปรับค่าแรงขั้นต่ำในเกาหลีใต้ประจำปีไม่เคยเป็นเรื่องง่าย แต่จากการระบาดขึ้นอย่างไม่คาดคิดของโคโรนาไวรัสในประเทศ ซึ่งได้ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างหนักและการจ้างงาน อาจทำให้การตกลงเป็นไปได้อย่างยากลำบากมากขึ้นในปีนี้
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา คณะกรรมการค่าแรงขั้นต่ำ 27 คนซึ่งประกอบไปด้วย 9 สมาชิกตัวแทนจากกลุ่มลูกจ้าง กลุ่มนายจ้างและตัวแทนจากกลุ่มอื่นๆ ได้เข้าร่วมประชุมที่นครเซจง และสืบเนื่องจากมาตรการป้องกันโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ซึ่งทำให้เกิดการระบาดในประเทศกว่า 12,000 ราย ผู้เข้าร่วมประชุมต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยและตรวจวัดไข้ก่อนการประชุม และระหว่างที่นั่งประชุมมีการติดตั้งฉากกั้นและสวมปลอกไมโครโฟนเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
"การระดมความคิดและความพยายามจากทุกฝ่ายเป็นเรื่องที่สำคัญมากขึ้นในการปรับเปลี่ยนค่าแรงขั้นต่ำ" ปาร์ค จุนชิก ประธานคณะกรรมการได้กล่าวในช่วงเริ่มต้นการประชุม โดยปาร์คได้กล่าวว่าประเทศกำลังเจอสภาวะที่ไม่เคยเผชิญมาก่อนเนื่องจากไวรัส โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตัดสินใจในเรื่องค่าแรงขั้นต่ำในช่วงการระบาด ซึ่งยังไม่มีกำหนดว่าจะสิ้นสุดเมื่อใดและยังไม่มีวัคซีนนั้นถือเป็นการตัดสินใจที่ไม่เคยกระทำมาก่อน
ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐศาสตร์และธนาคารกลางของประเทศได้คาดการณ์ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจเกาหลีใต้จะลดลงไปที่อันดับสี่ของเอเชีย แต่ในขณะเดียวกันแรงงานที่มีรายได้ตามค่าแรงขั้นต่ำจะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโคโรนาไวรัส
ในปัจจุบันอัตราค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 8,590 วอนต่อชั่วโมง (ประมาณ 220 บาท) ซึ่งปรับขึ้นจากปีที่แล้ว 2.9 เปอร์เซ็นต์ โดยการปรับค่าแรงในแต่ละปีถือว่าน้อยลงเมื่อเทียบกับปี 2018 ที่มีการปรับเพิ่มขึ้น16.4 เปอร์เซ็นต์ และ 10.9 เปอร์เซ็นต์ในปี 2019 ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของประธานาธิบดีมุน แจอินในการที่จะปรับอัตราค่าแรงขึ้นเป็น 10,000 วอนภายในกลางปี 2020
ในปีนี้ บรรดาเจ้าของธุรกิจได้เรียกร้องไม่ให้มีการปรับขึ้นหรือขอให้ลดค่าแรงขั้นต่ำลง ในขณะที่ลูกจ้างต้องการให้มีการปรับเพิ่มขึ้นเพื่อความมั่นคงในรายได้ของแรงงานชั่วคราวและแรงงานที่ไม่ได้จดทะเบียน
รยู กีจอง เจ้าหน้าที่มูลนิธิธุรกิจเกาหลี (KEF) ได้แสดงความกังวลว่าการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำอาจเพิ่มภาระให้กับกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กที่ต้องดิ้นรนเพื่อสร้างกำไร รยูกล่าวว่า "ธุรกิจเล็กๆและเจ้าของกิจการต่างได้รับผลกระทบมามากพอแล้วจากการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำในระยะสามปีที่ผ่านมา" โดยเน้นย้ำถึงผลลัพธ์ที่ต้องเป็นไปอย่างเหมาะสม
จากการสำรวจความเห็นร่วมที่ดำเนินการโดย KEF และ สหพันธ์ธุรกิจขนาดกลางและเล็กแห่งเกาหลีเมื่อวันที่ 6 ถึง 13 พฤษภาคมที่ผ่านมา ผลการสำรวจออกมาว่า กว่า 88.1 เปอร์เซนต์ของบริษัทที่ร่วมลงคะแนนกว่า 800 แห่งต้องการให้ลดหรือคงที่อัตราค่าแรงขั้นต่ำ และจากผลการสำรวจที่ดำเนินการโดยหอการค้าเมืองแดกู เมืองทางภาคใต้ที่เคยเป็นศูนย์กลางการระบาดของไวรัสในเกาหลี ระบุว่ามีการเรียกร้องให้ไม่มีการปรับเพิ่มขึ้นหรือให้ลดค่าแรงกว่า 93 เปอร์เซ็นต์
แต่อย่างไรก็ตาม องค์กรแรงงานและลูกจ้างกล่าวว่าการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำนั้นเป็นเรื่องสำคัญในการสนับสนุนความต้องการภายในประเทศและปกป้องแรงงานที่มีความเสี่ยง
"พนักงานพาร์ทไทม์ ฟรีแลนซ์ และลูกจ้างที่ไม่ได้จดทะเบียนซึ่งเป็นแรงงานที่มีความมั่นคงน้อยที่สุดในสังคมกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโคโรนาไวรัส" ลีดงโฮ เลขาธิการสหพันธ์การค้าเกาหลีได้กล่าวเสริมในการประชุมเมื่อวันพฤหัสบดี
ลีชี้ว่าควรเพิ่มอัตราค่าแรงขึ้น 5.3 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าจากที่เคยปรับขึ้นมา 2.9 เปอร์เซ็นต์ โดยกล่าวว่าการปรับอัตราเพิ่มนั้นมีความจำเป็นเพื่อช่วยเหลือแรงงานและป้องกันไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำกันของค่าจ้าง
ในขณะเดียวกัน สหภาพเยาวชน ตัวแทนจากกลุ่มเยาวชนก็ได้มีการเรียกร้องให้มีค่าแรงขั้นต่ำอย่างน้อย 10,320 วอน รวมถึงเบี้ยเลี้ยงในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ โดยสหภาพได้อ้างอิงจากการศึกษาซึ่งพบว่าพนักงานพาร์ทไทม์ส่วนใหญ่ถูกจ้างงานราว 17.8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ในขณะที่บริษัทได้ลดเวลาทำงานลงให้มากที่สุดเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย
คณะกรรมการค่าแรงขั้นต่ำจะมีกำหนดการจัดการประชุมรวมอีกครั้งในวันที่ 25 มิถุนายน ในขณะที่กระทรวงแรงงานมีกำหนดประกาศอัตราค่าแรงขั้นต่ำในปี 2021 ภายในวันที่ 5 สิงหาคม ซึ่งหมายความว่าคณะกรรมการจะต้องได้ข้อสรุปเรื่องอัตราค่าแรงขั้นต่ำก่อนเวลานั้น
การหารือเกี่ยวกับการปรับค่าแรงขั้นต่ำของเกาหลีในปีนี้จะสิ้นสุดลงที่อย่างไรคงต้องติดตามกันต่อไป แต่เชื่อว่าการปรับค่าแรงขั้นต่ำในครั้งนี้จะส่งผลกระทบที่ดีให้กับทั้งลูกจ้างและนายจ้าง
แล้วเจอกันใหม่ค่ะ
🤞🏻Subscribe พวกเรา Creatrip บน Youtube
✨Creatrip Instagram
instagram.com/creatrip.thailand
🎈ช้อปปิ้ง|สั่งซื้อสินค้าเกาหลี
โพสต์ที่น่าสนใจ |
อัตราแลกเปลี่ยนเงินวอนสูงขึ้นในรอบ6ปี |
การต่อสู้กับไวรัสของฟรอนต์ไลน์ |
บริการส่งหน้ากากKF94 |