logo
เขต

"ฮงแด" แหล่งรวมวัยรุ่นและวัฒนธรรมของเกาหลี

ฮงแดกลายมาเป็นศูนย์กลางของศิลปะวัฒนธรรมและการค้าของเกาหลีได้อย่างไรกันนะ?

Jihyun Lee
3 years ago


สวัสดีค่ะทุกคน! พวกเรา Creatrip ศูนย์รวบรวมข้อมูลการท่องเที่ยวเกาหลีที่อัพเดทโดยคนเกาหลีในทุก ๆ วัน


#เที่ยวฮงแด #ศิลปะวัฒนธรรม

#การค้าของเกาหลี #เที่ยวเกาหลี

 

วันนี้เราจะมาพาทุกคนแวะไปดูประวัติความเป็นมาของฮงแดกันค่ะ! หากมองเข้าไปลึก ๆ ก็จะพบว่าฮงแดเป็นแหล่งรวมของวัฒนธรรมที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นร้านเสื้อผ้าน่ารัก ๆ หรือร้านกาแฟทันที่สมัย รวมไปถึงแกลเลอรีหรือดนตรีสนุก ๆ ก็มีเช่นกันค่ะ! ไปดูกันดีกว่าว่าฮงแดกลายมาเป็นแหล่งรวมวัยรุ่นและวัฒนธรรมได้อย่างไรกันนะ?

  

  🤞🏻Subscribe พวกเรา Creatrip บน Youtube 

Creatrip Instagram
instagram.com/creatrip.thailand

🎈ช้อปปิ้ง|สั่งซื้อสินค้าเกาหลี 


ประวัติความเป็นมาของฮงแด

วัฒนธรรมด้านศิลปะ (1970-1980s)
ฮงแดในอดีต | วัฒนธรรมด้านศิลปะ (1970-1980s)


ศิลปะวัฒนธรรมที่หลากหลายซึ่งได้พัฒนาขึ้นในฮงแดนั้นมีประวัติศาสตร์อันยาวนานเลยล่ะค่ะ ทุกอย่างเริ่มต้นมาจากการที่มหาวิทยาลัยฮงอิกย้ายไปตั้งอยู่ในย่านมาโพ-กูนั่นเองค่ะ

โดยคำว่า "ฮงแด" ย่อมาจาก Hongik University (홍익대학교) ค่ะ

"ฮง (홍)" มาจากคำแรกของชื่อมหาวิทยาลัย และ "แด (대)" มาจากส่วนแรกของคำว่า 대학교 ซึ่งหมายถึงมหาวิทยาลัยค่ะ และเมื่อมหาวิทยาลัยฮงอิกก่อตั้งขึ้นในปี 1955 จึงเป็นเรื่องปกติที่จะเรียกบริเวณรอบ ๆ มหาวิทยาลัยว่า "ฮงแด" ค่ะ

จนถึงปี 1990 ฮงแดถูกใช้เพื่อพูดถึงบริเวณรอบ ๆ มหาวิทยาลัย โดยหมายถึงบริเวณใกล้เคียงเป็นหลักค่ะ แต่ในปัจจุบันย่านที่ไกลออกไปหน่อย เช่น ยอนนัมดง, ฮับจอง, และ ซังซู ก็ถูกรวมไว้เมื่อพูดถึงย่านฮงแดเช่นกันค่ะ


วิทยาลัยศิลปะของมหาวิทยาลัยฮงอิกSource: City of Seoul (서울시)


และเมื่อมีมหาวิทยาลัยก็แน่นอนว่าจะต้องมีนักศึกษาค่ะ พอประชากรในบริเวณรอบ ๆ เพิ่มขึ้น พื้นที่ที่เรียกว่า "ฮงแด" ก็ได้รับการพัฒนาเช่นกันค่ะ

นอกจากนี้วิทยาลัยศิลปะของมหาวิทยาลัยฮงอิกก็เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และผลจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 1961 ก็ทำให้ทุกหน่วยงานในมหาวิทยาลัยต้องปิดตัวลง ยกเว้นแผนกศิลปะค่ะ

เป็นเหตุผลที่ทำให้แผนกศิลปะเติบโตขึ้นใน "ฮงแด" และกลายเป็นศูนย์กลางของศิลปะวัฒนธรรมในที่สุดค่ะ


วัฒนธรรมศิลปะในย่านฮงแดSource: Mapo-gu (마포구)


วัฒนธรรมศิลปะที่เกิดขึ้นในย่านฮงแดนั้นมีทั้งการวาดภาพบนกำแพง, รูปปั้น, และการทาสีกำแพงค่ะ

เนื่องจากมีนักศึกษาจำนวนมากปรารถนาที่จะมาเรียนในด้านศิลปะที่มหาวิทยาลัยฮงอิก จึงมีสถาบันสอนศิลปะมากมายในบริเวณรอบ ๆ มหาวิทยาลัยค่ะ อันที่จริงถนนแถบนี้มีชื่อเล่นว่า Hongdae Art Academy Street ด้วยนะคะ


สถาบันศิลปะในฮงแดSource: 내 손안에 서울


เมื่อถึงฤดูสอบเข้า นักเรียนจากทั่วประเทศต่างก็แห่กันไปที่สถาบันศิลปะในฮงแดเพื่อเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัยค่ะ


108 Workshop (108 작업실)Source: Street-h (스트리트 h)


ในเวลานั้น มีนักศึกษาศิลปะที่ปรับปรุงโรงรถของบ้านในฮงแดให้เป็นสตูดิโอและปล่อยเช่าด้วยนะคะ สตูดิโอถูกเรียกว่า "108 Workshop (108 작업실)" เพราะเงินมัดจำคือ 1 ล้านวอน และค่าเช่ารายเดือนคือ 80,000 วอนนั่นเองค่ะ

แน่นอนว่ามีนักศึกษาศิลปะหลาย ๆ คนมารวมตัวกันที่ 108 Workshop และช่วยกันกำหนดทิศทางของการพัฒนาศิลปะในพื้นที่ฮงแดค่ะ


Homi Art Shop (호미화방)Source: Visit Seoul


นอกจากนี้ก็ยังมี "Homi Art Shop (호미화방)" ร้านจำหน่ายอุปกรณ์ศิลปะทุกชนิด เช่น สี, พู่กัน, และผืนผ้าใบ ฯลฯ ด้วยนะคะ ถือเป็นร้านที่เป็นสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมศิลปะในฮงแดตั้งแต่ในปี 1975 เลยล่ะค่ะ


ร้านจำหน่ายอุปกรณ์ศิลปะทุกชนิดSource: Visit Seoul 2


ในตอนที่ "Homi Art Shop (호미화방)" เปิดให้บริการครั้งแรกนั้นยังคงเป็นเพียงร้านเล็ก ๆ ที่มีพื้นที่แค่ 14 พย็อง (ประมาณ 500 ตารางฟุต) อยู่เลยค่ะ และตอนนี้ก็ขยายขึ้นเป็น 300 พย็อง (10,675 ตารางฟุต) แล้ว นอกจากนี้ยังจัดจำหน่ายในช่องทางออนไลน์ด้วยนะคะ


Homi Art Shop ปัจจุบันSource: Visit Seoul 3


และเหตุผลในการก่อตั้งร้านก็คือ เจ้าของร้านอยากให้คนที่มาที่ร้านเกิดแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะชิ้นใหม่ ๆ ขึ้นมานั่นเองค่ะ แม้ว่าจะมาซื้อของตอนเที่ยงคืนเจ้าของร้านก็เต็มใจออกมาเปิดร้านให้ค่ะ!

ด้วยเหตุผลเหล่านี้ Homi Art Shop จึงเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมศิลปะในฮงแด และเป็นที่ที่ศิลปินมากมายเข้ามาเพื่อหาแรงบันดาลใจค่ะ


วัฒนธรรมด้านดนตรี (1990s)วัฒนธรรมด้านดนตรี (1990s)


วัฒนธรรมดนตรีเริ่มต้นขึ้นในปี 1990 โดยวงดนตรีสดเริ่มปรากฏขึ้นรอบ ๆ ฮงแด ก่อนที่ "ร็อคคาเฟ่ (Rock Cafes)" จะก่อตั้งขึ้นมาค่ะ

และถึงแม้จะชื่อว่า "ร็อคคาเฟ่" แต่ก็แทบไม่เคยเล่นเพลงร็อคเลยค่ะ ส่วนใหญ่จะเล่นเพลงสำหรับเต้นรำแทน ถือเป็นเวอร์ชั่นแรกสุดของแดนซ์คลับที่มีอยู่ในปัจจุบันนั่นเอง


ร็อคคาเฟ่ ชินชนSource: Seoul &


ร็อคคาเฟ่ส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในย่านชินชน (신촌) ค่ะ ซึ่งก็จะมีนักศึกษามหาวิทยาลัยมากมายที่รวมตัวกันเพื่อไปสนุกกันที่ร็อคคาเฟ่ค่ะ

เนื่องจากซินชนเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยถึง 4 แห่งด้วยกันค่ะ ได้แก่ มหาวิทยาลัยยอนเซ (연세), มหาวิทยาลัยสตรีอีฮวา (이화여자), มหาวิทยาลัยมยองจี (명지), และมหาวิทยาลัยซอกัง (서강)


ระเบียบเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานบันเทิงรอบเขตมหาวิทยาลัยSource: Love Seoul (서울사랑)


ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 เมืองโซลได้วางระเบียบเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานบันเทิงรอบเขตมหาวิทยาลัยค่ะ และเนื่องจากร็อคคาเฟ่เปิดดำเนินการในฐานะสถานบันเทิง จึงต้องย้ายจากชินชนไปอยู่ที่ฮงแดแทนค่ะ

ที่ตั้งใหม่แม้จะยังอยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัย แต่ก็มีกฎระเบียบที่เข้มงวดน้อยกว่าค่ะ


ไลฟ์คลับ (Live Clubs)Source: 플랫폼


ในตอนนั้นเองที่ "ร็อคคาเฟ่" เปลี่ยนไปเป็น "ไลฟ์คลับ (Live Clubs)" ค่ะ

ซึ่งไลฟ์คลับก็กลายมาเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมดนตรีในที่สุด! นักดนตรีอินดี้หลายคนมักจะมาเล่นในคลับเหล่านี้ค่ะ และเมื่อ Rock World ก่อตั้งขึ้นในปี 1993 วัฒนธรรมดนตรีก็เฟื่องฟูมาก ๆ เลยล่ะค่ะ

เนื่องจากมีวงดนตรีชื่อดังอย่าง The Drugs, The Jammers, และ The Rolling Stones เป็นคนปูทาง ทำให้วัฒนธรรมดนตรีเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วนั่นเองค่ะ


นักดนตรีอินดี้


เนื่องจากนักดนตรีอินดี้หลาย ๆ คนไม่ได้พึ่งพาบริษัทบันเทิงหรือนักลงทุน ดังนั้นการก้าวขึ้นสู่การมีชื่อเสียงของพวกเขาจึงดูแตกต่างออกไปเล็กน้อยค่ะ

นอกจากนี้ดนตรีของพวกเขาก็มีความหลากหลายมากขึ้นด้วย รวมทั้งแนวเพลงก็มีเอกลักษณ์ขึ้นเช่นกัน เช่น พังก์, อัลเทอร์เนทีฟร็อก ฯลฯ


คลับสำหรับแสดงดนตรีสดSource: YouTube Channel Crying Nut


วงดนตรีอินดี้ต้องออดิชั่นเพื่อคว้าโอกาสในการเล่นสดที่คลับในฮงแดค่ะ เมื่อพิจารณาแล้วว่าแนวเพลงและสไตล์ในการเล่นเข้ากับสถานที่ วงดนตรีก็จะได้แสดงเป็นวงประจำค่ะ แล้วจากนั้นถึงจะสามารถขยายแนวเพลงในการเล่นได้

คลับสำหรับแสดงดนตรีสดส่วนใหญ่จะมีขนาดเล็ก มีพื้นที่ประมาณ 25 - 30 พย็อง (890 - 1067.5 ตารางฟุต) เท่านั้น ดังนั้นเราจึงสามารถดูวงดนตรีเหล่านี้ได้ใกล้ ๆ ในราคาที่ถูกมาก ๆ เลยล่ะค่ะ

ซึ่งคลับต่าง ๆ ก็จะมีกฎในการดูดนตรีสดแปะไว้ที่ทางเข้าด้วยนะคะ

  1. อย่านั่งดู
  2. ทำท่า body slam (ท่านิยมในการดูคอนเสิร์ตร็อคในอดีต) จนกว่าจะปวดคอ
  3. ดูให้คุ้มเงินที่เสียไป


วัฒนธรรมดนตรีของฮงแดSource: Street-h (스트리트 h)


อีกเหตุผลหนึ่งที่วัฒนธรรมดนตรีของฮงแดเฟื่องฟูก็คือ ฮงแดขึ้นชื่อว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับคนที่รักอิสระนั่นเองค่ะ ศิลปินอินดี้สามารถแสดงดนตรีได้อย่างอิสระโดยไม่ต้องโดนตัดสินจากกลุ่มอนุรักษ์นิยมให้ยุ่งยากใจ


คอนเสิร์ตของไลฟ์คลับ


แม้กระทั่งทุกวันนี้ เราก็ยังสามารถพบการแสดงดนตรีอินดี้มากมายได้ในฮงแดค่ะ เพราะว่านักดนตรีหลาย ๆ คนชอบแสดงที่ฮงแดมากกว่า เนื่องจากวัฒนธรรมดนตรีที่มีมาตั้งแต่สมัยก่อนนั่นเองค่ะ

นอกจากนี้เราก็ยังสามารถเพลิดเพลินไปกับนักดนตรีอินดี้และเข้าร่วมชมการแสดงของพวกเขาได้ด้วยนะคะ! ซึ่งคอนเสิร์ตของไลฟ์คลับเหล่านี้ก็จะมีบรรยากาศที่แตกต่างออกไปจากคอนเสิร์ตเคป๊อปขนาดใหญ่ทั่ว ๆ ไปค่ะ


วัฒนธรรมแดนซ์คลับ (ปลาย 1990s)
วัฒนธรรมแดนซ์คลับ (ปลาย 1990s)


ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 วัฒนธรรมแดนซ์คลับเข้าครอบงำกระแสของคลับในช่วงนั้นค่ะ เนื่องจากในปี 1992 คลับที่ทรงอิทธิพลอย่าง Golden Helmet (황금투구), Myeongwolgwan (명월관) ฯลฯ เป็นตัวเร่งให้เกิดยุคแดนซ์คลับขึ้นมานั่นเอง


ดีเจที่แดนซ์คลับฮงแดSource: 내 손 안에 서울


แดนซ์คลับไม่ได้มีไว้สำหรับเต้นเท่านั้นนะคะ แต่ศิลปินจากแขนงต่าง ๆ (ศิลปะ ดนตรี ฯลฯ) ก็มักจะรวมตัวกันทำงานที่นี่ค่ะ นอกจากนี้แดนซ์คลับก็มักจะเล่นดนตรีต่างประเทศที่หาได้ยากในตอนนั้น ทำให้คนหนุ่มสาวจำนวนมากที่กำลังมองหาสิ่งใหม่ ๆ ชอบไปที่แดนซ์คลับค่ะ


แดนซ์คลับของฮงแดSource: 중앙일보


แดนซ์คลับของฮงแดได้รับการพิจารณาว่าเป็นสถานที่สุดฮิปและอินเทรนด์ที่สุดที่ควรไปซักครั้งในตอนนั้นค่ะ ดังนั้นคนที่อยากจะ "มีชื่อเสียง" ก็มักจะไปที่แดนซ์คลับบ่อย ๆ ค่ะ ทำให้จำนวนคนที่ไปแดนซ์คลับเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างรวดเร็ว


สโลแกน Source : dj asia


ในช่วงต้นทศวรรษ 2000 ได้มีการก่อตั้ง "Club Day" ด้วยสโลแกน "Clubber's Harmony" และตั้งแต่เดือนมีนาคม 2001 จนถึงปัจจุบัน ก็นับเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้วที่ "Club Day" ได้รับการเฉลิมฉลองมาเรื่อย ๆ ในวันศุกร์สุดท้ายของแต่ละเดือนค่ะ


เทศกาลวัน Source: bnt News


สำหรับสิทธิพิเศษในวัน "Club Day" ก็คือ เราสามารถใช้บัตรเข้าคลับแค่ใบเดียวในการเข้าคลับอื่น ๆ ที่เข้าร่วมทั้งหมดได้ฟรีค่ะ ซึ่งก็ได้รับความนิยมมากขึ้นในปี 2007 เมื่อมีคลับที่มีวงดนตรีสดเข้าร่วมค่ะ

ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นเทศกาลที่เอื้อให้เราสามารถปาร์ตี้และชมการแสดงดนตรีสดต่าง ๆ ได้อย่างไม่อั้นเลยใช่มั้ยล่ะคะ? เรียกได้ว่าฮงแดได้กลายเป็นเหมือนกับสนามเด็กเล่นของหนุ่มสาววัยรุ่นเลยล่ะค่ะ


ศูนย์กลางการค้า (2000s)
ศูนย์กลางการค้า (2000s)


เนื่องจากวัฒนธรรมที่หลากหลาย ฮงแดจึงถูกมองว่าเป็นสถานที่แห่งศิลปะและดนตรีค่ะ แต่ในขณะเดียวกันก็มีร้านค้าถือกำเนิดขึ้นเป็นจำนวนมากเช่นกัน


Duliban Strike (두리반 투쟁)Source: Street-h (스트리트 h)


แน่นอนว่าการค้าขายของร้านค้ารายย่อยไม่ได้ขัดขวางวัฒนธรรมศิลปะที่มีอยู่แต่อย่างใดค่ะ ถึงกับเคยมีช่วงที่ร้านกาแฟ, ร้านอาหาร, แฟรนไชส์, และพื้นที่ทางวัฒนธรรมอันหรูหราเติบโตและอยู่ร่วมกันเลยด้วยซ้ำ

แต่ระหว่างปี 2000 ถึงปี 2010 การค้าขายในฮงแดก็ได้พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากความคิดริเริ่มทำ "ถนนช้อปปิ้ง" ของรัฐบาลนั่นเองค่ะ และเหตุการณ์ที่เป็นสัญลักษณ์มากที่สุดในช่วงเวลานี้ก็คือ "Duliban Strike (두리반 투쟁)" นั่นเอง


การประท้วงของร้าน Duliban Source: 중앙일보


Duliban เป็นร้านอาหารที่ขายคัลกุกซูและตั้งอยู่ใกล้กับสถานีมหาวิทยาลัยฮงอิกค่ะ แต่ในปี 2009 ร้าน Duliban มีความเสี่ยงที่จะถูกรื้อถอน เนื่องจากการพัฒนาของเส้นทางรถไฟ Airport Railroad (AREX) นั่นเอง

ซึ่งบริษัทที่พัฒนาพื้นที่ก็เสนอค่าชดใช้ในการย้ายร้านให้เพียงแค่ 3 ล้านวอน (ประมาณ 85,000 บาท) เท่านั้นเองค่ะ ดังนั้นเจ้าของและภรรยาจึงได้ทำการประท้วงขึ้นเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมค่ะ


นักดนตรีมารวมตัวกันที่หน้า DulibanSource: Street-h (스트리트 h)


การพัฒนานี้ไม่เพียงแต่จะทำลายร้าน Duliban เท่านั้น แต่ยังรวมถึงพื้นที่ทางวัฒนธรรมอื่น ๆ อีกมากมายก็จะถูกปรับให้กลายเป็นทางรถไฟเช่นกันค่ะ ดังนั้นศิลปินหลาย ๆ คนที่ไม่ต้องการเห็นวัฒนธรรมเหล่านี้หายไปจึงเข้าร่วมในการประท้วงเพื่อปกป้องฮงแดเอาไว้นั่นเอง

ซึ่งการประท้วงก็เกิดขึ้นด้วยการเล่นดนตรีค่ะ นักดนตรีจะมารวมตัวกันที่หน้า Duliban และแสดงสดในทุก ๆ สัปดาห์เพื่อแสดงเจตจำนงค่ะ


Source: Party 51 (파티 51)


และในวันที่ 1 พฤษภาคม 2010 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 120 ปีของวันแรงงานสากล ก็มีงานที่เรียกว่า "New Town Culture Party 51+ (뉴타운컬쳐파티 51+)" จัดขึ้นค่ะ ในงานมีการแสดงจากวงดนตรีถึง 60 วง และมีผู้ชมถึง 2,500 คนมาเข้าร่วมเลยทีเดียวค่ะ

และในที่สุดหลังจากทำการประท้วงมาเป็นเวลาทั้งหมด 531 วัน เจ้าของ Duliban ก็ได้รับค่าชดเชยตามสมควรค่ะ และพวกเขาก็ยังได้รับข้อตกลงให้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ด้วยนะคะ

จนถึงทุกวันนี้ ร้านอาหารแห่งนี้ยังคงดำเนินกิจการอยู่ค่ะ ดังนั้น "Duliban Strike" จึงเป็นเหตุการณ์ที่เน้นย้ำถึงประเด็นการค้าขายของฮงแดนั่นเอง


ค่าเช่าก็เพิ่มขึ้นSource: 내 손안에 서울


ตั้งแต่นั้นมา กระบวนการปรับปรุงพื้นที่ในฮงแดก็มีแต่เร่งรีบขึ้นเรื่อย ๆ ค่ะ รวมถึงค่าเช่าก็เพิ่มขึ้นอย่างมากเช่นกัน เป็นผลมาจากกระแสที่โด่งดังของวัฒนธรรม K-POP นั่นเอง

และจากรายงานของศูนย์วิจัยข้อมูลศูนย์การค้า (상가정보연구소) ก็พบว่าค่าเช่าในฮงแดเพิ่มขึ้น 22.58% ตั้งแต่ปี 2018 ถึง 2019 ค่ะ

ดังนั้นไลฟ์คลับหลาย ๆ แห่ง และธุรกิจขนาดเล็กอื่น ๆ จึงปิดลงหรือย้ายไปในพื้นที่ใกล้เคียงแทนค่ะ



ฮงแดในปัจจุบัน

ฮงแดในปัจจุบัน


เหตุการณ์ในอดีตทั้งหมดได้หล่อหลอมกันจนกลายมาเป็นฮงแดในปัจจุบันค่ะ แม้จะต้องดิ้นรนกับการค้าขาย แต่ก็ยังสามารถเพลิดเพลินไปกับวัฒนธรรมที่หลากหลายในฮงแดได้ค่ะ

ตอนนี้พื้นที่ที่เรียกว่า "ฮงแด" ได้ขยายไปถึงย่านยอนนัมดง, ฮับจอง, และซังซูแล้วนะคะ ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็จะมีความน่าสนใจและเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันออกไปค่ะ


ฮงแดในปัจจุบัน | ถนนสายหลักของฮงแด
ฮงแดในปัจจุบัน | ถนนสายหลักของฮงแด


พื้นที่ที่ไฮไลต์ด้วยสีแดงในแผนที่ด้านบนถือเป็นถนนสายหลักของฮงแดค่ะ นอกจากนี้ก็ยังเป็นพื้นที่ที่มีการค้าขายมากที่สุดด้วยค่ะ เรียกได้ว่าเป็นศูนย์กลางการค้าเลยก็ว่าได้ค่ะ


ฮงแดในปัจจุบัน | สถานี Hongik University ทางออก 9

ฮงแดในปัจจุบัน | สถานี Hongik University ทางออก 9 (홍대입구역 9 번출구)Source: City of Seoul (서울시)


สถานี Hongik University ทางออก 9 อยู่ใกล้กับถนนสายหลักของฮงแดมากที่สุด ดังนั้นจึงกลายเป็นจุดนัดพบที่คนส่วนใหญ่นัดเจอกันเวลามาฮงแดนั่นเองค่ะ

นอกจากนี้ก็ยังมีชื่อเล่นว่า "นรกของผู้คน" เพราะว่ามีคนจำนวนมากมายมหาศาลเลยล่ะค่ะ! โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันหยุดสุดสัปดาห์หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์จำนวนผู้คนในย่านฮงแดก็ดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุดเลยล่ะค่ะ


สถานี Hongik University ทางออก 9 (홍대입구역 9 번출구)Source: Monthly Chosun (월간조선)


และถ้าใครที่จำเป็นจะต้องขึ้นรถไฟใต้ดินเที่ยวสุดท้ายแล้วล่ะก็ บอกเลยว่าจะเป็นประสบการณ์ที่ลืมไม่ลงเลยล่ะค่ะ! เพราะว่าจะมีคนเมาจำนวนมากไปออกันอยู่ที่ทางออก 9 เพื่อขึ้นรถไฟกลับบ้านนั่นเองค่ะ

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันก็ยังมีคนหนุ่มสาวจำนวนมากที่ยังคงไปฮงแดเพื่อสัมผัสกับความสนุกสนานยามค่ำคืนค่ะ


ฮงแดในปัจจุบัน | สถานที่ช้อปปิ้ง

ฮงแดในปัจจุบัน | สถานที่ช้อปปิ้ง


กิจกรรมทั่วไปในถนนสายหลักฮงแดก็คือการช็อปปิ้งนั่นเองค่ะ! มีร้านแบรนด์เนมมากมายตั้งเรียงรายอยู่ข้างทาง เช่น FILA, ADIDAS และ H&M นอกจากนี้ก็ยังสามารถมองหาร้านเครื่องสำอาง เช่น Innisfree, Nature Republic ได้อย่างง่ายดายด้วยนะคะ


ฮงแดในปัจจุบัน | สถานที่ช้อปปิ้ง ร้านเสื้อผ้า

ฮงแดในปัจจุบัน | สถานที่ช้อปปิ้ง ร้าเครื่องประดับSource: Mapo-gu (마포구)


นอกจากนี้ก็ยังมีร้านค้ารายย่อยมากมายที่ขายเสื้อผ้าและเครื่องประดับน่ารัก ๆ ด้วยนะคะ แต่ต้องขอเตือนให้ระวังร้านค้าเล็ก ๆ เอาไว้หน่อยค่ะ ถึงจะมีราคาถูกมาก ๆ แต่คุณภาพอาจไม่ดีนัก

สำหรับใครที่ต้องการเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการช็อปปิ้งในฮงแด คลิก


ฮงแดในปัจจุบัน | บาร์และร้านอาหาร

ฮงแดในปัจจุบัน | บาร์และร้านอาหารSource: SBS NEWS


มีร้านอาหารและบาร์มากมายตั้งอยู่บนถนนสายหลักของฮงแดค่ะ แต่โดยรวมแล้วมีรีวิวไม่ค่อยดีเท่าไหร่

เนื่องจากมีปริมาณนักท่องเที่ยวเยอะมาก ๆ ร้านอาหารส่วนใหญ่จึงเป็นร้านแฟรนไชส์ที่ไม่มีอะไรพิเศษค่ะ อย่างไรก็ตามย่านนี้ก็ยังคงเป็นพื้นที่ยอดนิยมสำหรับคนอายุ 20 ต้น ๆ ที่จะมาสังสรรค์กันค่ะ ซึ่งคนในช่วงอายุอื่น ๆ จะไม่ค่อยนิยมมาฮงแดเท่าไหร่ค่ะ


ฮงแดในปัจจุบัน | รอบ ๆ ฮงแด
ฮงแดในปัจจุบัน | รอบ ๆ ฮงแด


ธุรกิจขนาดเล็กจำนวนมากจะย้ายไปเปิดร้านในบริเวณรอบ ๆ ฮงแดแทนที่จะอยู่ใจกลางฮงแดค่ะ เนื่องจากรอบ ๆ ฮงแดจะมีค่าเช่าถูกกว่าค่อนข้างมาก และแต่ละพื้นที่ก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ต่างกันค่ะ ไปดูกันว่าพื้นที่รอบ ๆ ฮงแดจะเรียกว่าอะไรบ้างนะ!?


ฮงแดในปัจจุบัน | ยอนนัมดง (연남동)ฮงแดในปัจจุบัน | ยอนนัมดง (연남동)


ใกล้ ๆ กับสถานี Hongik University ทางออก 3 จะพบกับสถานที่ที่คนเกาหลีเรียกกันว่า "ยอนทรัลปาร์ค (연트럴파크)" ค่ะ ชื่อนี้เป็นการผสมผสานระหว่าง "ยอนนัมดง (연남동)" และ "เซ็นทรัลปาร์ค (센트럴파크)" สวนสาธารณะขนาดใหญ่ของนิวยอร์กนั่นเอง 

จริง ๆ แล้วพื้นที่ตรงนี้มีชื่ออย่างเป็นทางการคือ Gyeongui Line Forest Park (경의선 숲길) ค่ะ เราจะได้พบกับร้านกาแฟ, ร้านอาหาร, และร้านค้าที่มีเอกลักษณ์มากมายในบริเวณรอบ ๆ ค่ะ และในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ย่านนี้ก็เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วค่ะ!


ฮงแดในปัจจุบัน | ยอนนัมดง (연남동) ร้านอาหาร


ยอนนัมดงจะต่างจากถนนสายหลักของฮงแดตรงที่มีธุรกิจขนาดเล็กมากกว่าร้านแฟรนไชส์ค่ะ นอกจากนี้ยังมีร้านอาหารมากมายที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของยอนนัมดงด้วยนะคะ


ฮงแดในปัจจุบัน | ยอนนัมดง (연남동) คาเฟ่


ฮงแดในปัจจุบัน | สวนสาธารณะ Gyeongui Line Forest (경의선 숲길)

ฮงแดในปัจจุบัน | สวนสาธารณะ Gyeongui Line Forest (경의선 숲길)


บริเวณทางออก 5 และ 6 ของสถานี Hongik University เป็นส่วนขยายของสวนสาธาณะ Gyeongui Line Forest ค่ะ ถือเป็นส่วนหนึ่งของ "ถนนหนังสือคยองอึย" นั่นเองค่ะ


ร้านหนังสือหรือเครื่องเขียน


เราสามารถค้นหาอะไรก็ได้ที่เกี่ยวข้องกับหนังสือหรือเครื่องเขียนได้ที่นี่เลยค่ะ


สวนสาธาณะ Gyeongui Line Forest ร้านอาหาร


ในการจะที่สำรวจบริเวณโดยรอบและร้านค้าต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่รอบ ๆ สวนสาธาณะ Gyeongui Line Forest นั้นใช้เวลาแค่วันเดียวไม่มีทางพออย่างแน่นอนค่ะ! นอกจากนี้ก็ยังมีบาร์และร้านอาหารที่ทันสมัยตั้งอยู่มากมายเลยนะคะ เป็นเหตุผลว่าทำไมคู่รักจำนวนมากถึงเลือกจะมาออกเดทกันที่นี่ค่ะ


ฮงแดในปัจจุบัน | ฮับจอง & ซังซู (합정 & 상수)

ฮงแดในปัจจุบัน | ฮับจอง & ซังซู (합정 & 상수)


"ฮับจอง" เป็นสถานีที่รถไฟใต้ดินสาย 2 และ 6 มาบรรจบกันค่ะ ส่วนถ้าใครที่ไม่อยากนั่งรถไฟไปลงที่สถานีฮับจองก็สามารถเดินจากฮงแดมาได้นะคะ โดยใช้เวลาประมาณ 15 นาทีเท่านั้นค่ะ

ส่วน "ซังซู" เป็นสถานีรถไฟที่อยู่บนสาย 6 และเป็นสถานีที่ตั้งอยู่ถัดจากฮับจองนั่นเองค่ะ


ฮงแดในปัจจุบัน | ฮับจอง & ซังซู (합정 & 상수) ร้านอาหาร


ฮับจองกับซังซูจะคล้าย ๆ กับยอนนัมดงค่ะ เป็นย่านที่มีร้านอาหารและธุรกิจขนาดเล็กหลายแห่งตั้งอยู่ รับรองว่าจะสามารถหาคาเฟ่และร้านต่าง ๆ ที่ยอดเยี่ยมและสุดพิเศษได้อย่างแน่นอนค่ะ


ฮงแดในปัจจุบัน | ฮับจอง & ซังซู (합정 & 상수) คาเฟ่


ฮงแดในปัจจุบัน | สำนักพิมพ์ บริษัทออกแบบ ฯลฯ
ฮงแดในปัจจุบัน | สำนักพิมพ์ บริษัทออกแบบ ฯลฯ


วัฒนธรรมในด้านวรรณกรรมและการออกแบบก็เป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมที่มีความสำคัญของย่านฮงแดค่ะ ทุกคนเชื่อมั้ยคะว่ามีสำนักพิมพ์มากกว่า 3,000 แห่งตั้งอยู่ใกล้ ๆ กับสถานีฮงแดเลยทีเดียวค่ะ!


ถนนหนังสือคยองกุยSource: Street-h (스트리트 h)


และเมื่อรวมสำนักพิมพ์ทั้งหมดในฮงแดเข้าด้วยกัน ก็จะถือเป็นหนึ่งในย่านวรรณกรรมที่ใหญ่ที่สุดของเกาหลีเลยล่ะค่ะ เรียกได้ว่าพอ ๆ กับ Paju Book City เลยทีเดียว และสิ่งนี้เองที่ทำให้ "ถนนหนังสือคยองอึย" เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องค่ะ


อาคารบริษัท YG EntertainmentSource: YG Entertainment


นอกจากนี้ก็ยังมีอาคารสำนักงานที่สวยงามมากมายตั้งอยู่ใกล้ ๆ กับสถานีฮับจองด้วยนะคะ รวมถึงอาคารบริษัท YG Entertainment แห่งใหม่ด้วยค่ะ!


ฮงแดในปัจจุบัน | คลับ
ฮงแดในปัจจุบัน | คลับ


วัฒนธรรมการเที่ยวคลับของฮงแดเริ่มลดน้อยลงตั้งแต่ที่มีการยุติ "Club Day" ค่ะ แต่แม้จะลดลงแล้ว ปริมาณผู้คนที่มาคลับก็ยังคงพอ ๆ กับย่านกังนัมและอิแทวอนอยู่ดีค่ะ


ฮงแดในปัจจุบัน | คลับในฮงแดSource: eja News (중앙뉴스)


ปกติแล้วถนนในบริเวณที่เต็มไปด้วยคลับจะคราคร่ำไปด้วยผู้คนมากมายในคืนวันศุกร์ค่ะ โดยทั่วไปแล้วผู้คนจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ

  1. กำลังรอคิวเข้าคลับ
  2. มุ่งหน้าไปยังคลับถัดไป
  3. เดินเล่นใกล้ ๆ คลับ

ซึ่งจะเห็นได้เลยว่าวัฒนธรรมแดนซ์คลับที่ฮงแดก็ยังคงมีความสำคัญไม่ต่างจากเมื่อ 30 ปีที่แล้วค่ะ น่าสนใจใช่มั้ยล่ะคะ?


วัฒนธรรมการสังสรรค์ในเกาหลีSource: track


หากต้องการเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับวัฒนธรรมการสังสรรค์ในเกาหลี ก็สามารถเข้าไปอ่านเพิ่มเติมได้ที่ เที่ยวคลับเกาหลี


ฮงแดในปัจจุบัน | เปิดหมวกเล่นดนตรี
ฮงแดในปัจจุบัน | เปิดหมวกเล่นดนตรี


แน่นอนว่าวัฒนธรรมที่คึกคักอย่างการเปิดหมวกเล่นดนตรีก็เห็นได้ทั่วไปตามถนนในย่านฮงแดค่ะ หากเดินไปตามถนนสายหลักของฮงแดรับรองว่าจะต้องเจอคนมาเปิดหมวกอยู่เต็มไปหมดเลยล่ะค่ะ


ฮงแดในปัจจุบัน | เปิดหมวกSource: Mapo-gu (마포구)


ในปัจจุบันได้มีการกำหนดพื้นที่สำหรับคนที่จะมาเปิดหมวกเอาไว้ด้วยนะคะ และการออกนอกพื้นที่ก็ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายค่ะ นอกจากนี้เรายังสามารถเลือกชมการแสดงของนักดนตรีอินดี้, นักเต้นข้างถนน, และนักมายากลได้ตามความสนใจเลยค่ะ!


ฮงแดในปัจจุบัน | เล่นดนตรีSource: 내 손안에 서울


อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ก็มีการแสดงเปิดหมวกน้อยลงค่ะ และยิ่งมาแสดงได้ง่ายเท่าไร่ คุณภาพของการแสดงก็ลดลงจากในอดีตมากเท่านั้นค่ะ




เป็นยังไงกันบ้างคะกับประวัติความเป็นมาของฮงแดตั้งแต่อดีตมาจนกระทั่งกลายเป็นแหล่งรวมวัยรุ่นและวัฒนธรรมของเกาหลี? น่าทึ่งใช่มั้ยล่ะคะที่สามารถรวบรวมทุกกิจกรรมเอาไว้ในย่านเดียวกันได้!   


🤞🏻Subscribe พวกเรา Creatrip บน Youtube 

Creatrip Instagram
instagram.com/creatrip.thailand

🎈ช้อปปิ้ง|สั่งซื้อสินค้าเกาหลี

ยอดเข้าชมมากที่สุด

ยอดเข้าชมมากที่สุด